วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ตำบลน้ำขาว



ชุมชนน้ำขาว เป็นชุมชนใหญ่ มีระบบเครือญาติเป็นห่วงโซ่คล้องต่อกัน จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง จากครอบครัวหนึ่งไปสู่อีกครอบครัวหนึ่ง และจากหมู่บ้านหนึ่งไปสู่อีกหมู่บ้านหนึ่ง... มีอารมณ์ความรู้สึกที่ถูกหล่อหลอมเป็นหนึ่งเดียวกัน ทั้งด้านความเชื่อ ความศรัทธา และวัฒนธรรมประเพณี

เส้นทางสายวัฒนธรรม



เขรถถีบเที่ยว เส้นทางสายวัฒนธรรม จะใช้รถถีบบ้าน หรือรถถีบอะไรก็ได้ครับ ไม่ได้เน้นถีบเพื่อแข่งขัน ถีบเพื่อสุขถาพพร้อมเรียนรู้เรื่องราวของตำบลน้ำขาว ตลอดเส้นทาง ผู้บรรยายหลักคือ ครูยะ ตำบลน้ำขาวมีภูมิหลัง มีประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของชุมชนที่น่าศึกษา กิจกรรมนี้จะจัดเป็นวาระ เป็นครั้งคราว เช่นในงานสืบสานตำนานควนธง หรือ การเข้าค่ายรักษ์บ้าน ของเยาวชนน้ำขาวเข้าวัดวันอาทิตย์ ท่านที่สนใจร่วมกิจกรรม เขรถถีบเที่ยว เส้นทางสายวัฒนธรรม โปรดคอยติดตามข่าว...

ประวัติวัดน้ำขาวใน



ประวัติวัดน้ำขาวใน (วัดตก)

วัดน้ำขาวใน เป็นวัดโบราณ อยู่ทางทิศเหนือของคลองคู ตั้งอยู่ ม.๖ ต.น้ำขาว อ.จะนะ จ.สงขลา สันนิษฐานสร้างขึ้นประมาณปีพ.ศ. ๒๓๕๗ สมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ประวัติวัดน้ำขาวนอก



ประวัติวัดน้ำขาวนอก (วัดออก)

ตั้งอยู่เลขที่ ๑๓ หมู่ที่ ๓ (บ้านออกวัด) ต.น้ำขาว อ.จะนะ จ.สงขลา มีเนื้อที่ ๑๒ ไร่ เริ่มสร้างเป็นวัดเมื่อวันที่ ๔ เม.ย. ๒๔๓๐ ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นวัดที่สมบูรณ์ เมื่อวันที่ ๒๐ เม.ย.๒๔๓๙ ได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๙ พ.ย. ๒๕๔๐ ขนาดกว้าง ๒๓.๖๐ ม. ยาว ๔๕.๕๐ ม. ผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ ๗ เม.ย. ๒๕๔๕ โดยสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ จากวัดมกุฎกษัตริยารามเป็นประธานในการผูกพัทธสีมา สังกัดคณะสงฆ์นิกายธรรมยุต

ประวัติวัดบูรณาราม

ประวัติวัดบูรณาราม (วัดคลองแงะ)

สถานที่ตั้งวัด : วัดบูรณาราม ตั้งอยู่ที่บ้านคลองแงะ หมู่ที่ ๑๑ ตำบลน้ำขาว อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

สังกัด : คณะสงฆ์นิกาย ธรรมยุต

สภาพพื้นที่ : พื้นที่ตั้งเป็นที่เนินสูง ตั้งอยู่เชิงเนินเขาด้านในสุดของตำบลน้ำขาว นอกจากวัดบูรณารามแล้ว ในตำบลน้ำขาวยังมีวัดเก่าแก่อีก ๒ วัด คือ วัดน้ำขาวใน ตั้งอยู่บ้านน้ำขาวหมู่ที่ ๖ ต.น้ำขาว และวัดน้ำขาวนอก ตั้งอยู่บ้านออกวัด หมู่ที่ ๓ ต.น้ำขาว

เนื้อที่ของวัด : ที่ตั้งวัดมีเนื้อที่ ๑๕ ไร่ (ส.ด. ๑ เลขที่ ๑๘๐) ที่ธรณีสงฆ์ แปลงที่ ๑ เนื้อที่ ๑๑ ไร่ ๒ งาน ๒๐ ตารางวา แปลงที่ ๒ เนื้อที่ ๕ ไร่ ๒ งาน ๕๐ ตารางวา

ประวัติความเป็นมา : วัดบูรณารามเดิมชาวบ้านเรียกว่า “วัดคลองแงะ” ได้รับพระราชทานเขตวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ กว้าง ๓๐ เมตร ยาว ๖๐ เมตร แต่เดิมสันนิษฐานกันว่าน่าจะเป็นสาขาหนึ่งของวัดเสะ ต.บ้านนา (จากบันทึกคำบอกเล่าของชาวบ้าน) สาเหตุที่ได้ตั้งชื่อวัดว่า “วัดบูรณาราม” เนื่องจากวัดและชุมชนได้ร่วมกันพัฒนาบูรณะวัดให้เจริญยิ่งขึ้น จากแต่เดิมเป็นเพียงที่พักสงฆ์เท่านั้น จากคำบอกเล่าของชาวบ้านว่า ประมาณช่วงปี พ.ศ.๒๔๕๐ บ้านคลองแงะได้พยายามสร้างวัดขึ้นถึง ๒ แห่ง แต่ก็ไม่สำเร็จคงเหลือแต่เพียงวัดคลองแงะเพียงวัดเดียว

ทำเนียบเจ้าอาวาส: นับแต่เริ่มก่อตั้งถึงปัจจุบัน มีเจ้าอาวาสที่สืบค้นได้จากคำบอกเล่า จำนวน ๘ รูป คือ ๑.พ่อท่านเสน ๒.พ่อท่านสีนา ๓.พ่อท่านอ้วน ๔.พ่อท่านแสง (พระครูโชติธรรมวัตร) ๕.พ่อท่านเนียม ๖.พ่อท่านแสง(พระครูโชติธรรมวัตร) ๗.พ่อท่านวร ๘.พ่อท่านจ้วน (พระครูพิพัฒน์สังฆกิจ)

บทบาทและความสำคัญต่อชุมชน: วัดบูรณาราม (วัดคลองแงะ) นับเป็นสถานที่รวมศูนย์ทางจิตใจของชุมชนบ้านคลองแงะมาแต่เมื่อครั้งอดีต ในสมัยพ่อท่านแสง(พระครูโชติธรรมวัตร) เปิดเป็นสถานฝึกอบรมธรรมะแก่กุลบุตรกุลธิดาฝึกสวดมนต์สรภัญญะและปฏิบัติศาสนพิธี เปิดสอนอบรมหลักสูตรนักธรรมศึกษา แก่พระนวกะ สนับสนุนให้มีการจัดตั้งโรงเรียนบ้านคลองแงะ ร่วมกับชุมชนพัฒนาสาธารณะประโยชน์ สร้างสะพานต้นตาเสือ สะพานท่านแสง ซึ่งเป็นเส้นทางสายสำคัญของหมู่บ้านที่สามารถติดต่อสู่โลกภายนอกได้สะดวกรวดเร็ว สร้างศาลา และถนน ในสมัยพ่อท่านจ้วน (พระครูพิพัฒน์สังฆกิจ) ได้จัดการก่อสร้างโรงอุโบสถแบบถาวรขึ้นมีลักษณะรูปทรงเป็นแบบมหาอุต คือมีประตูทางเข้า-ออก ทางเดียว ไมมีประตูหลัง ขนาดกว้าง ...... เมตร ยาว ..... เมตร ภายในอุโบสถมีภาพวาดพุทธชาดก กัณฑ์เวชสันดรชาดกและภาพพุทธประวัติติดไว้ตามฝาผนังของโบสถดูสวยงาม ตระการตายิ่งนัก.

กิจกรรมเด่นของวัดที่ทำร่วมกับชุมชนในอดีต : ตามคติความเชื่อของชาวพุทธโดยทั่วไปที่เลื่อมใสและเคร่งครัดในพระพุทธศาสนา เชื่อว่า การที่เข้าไปในเขตวัดไม่ว่าจะด้วยธุระอันใด เมื่อถึงคราวเดินออกมา เศษหินดินทรายก็มักติดตามร่องรองเท้าออกมาด้วย ซึ่งเชื่อว่าไม่เป็นมงคลต่อชีวิต ทำให้พื้นที่ธรณีสงฆ์ทรุดต่ำลง ชาวบ้านจึงได้จัดให้มีประเพณีขนทรายเข้าวัด โดยไปขนมาจากคลองคู แล้วมาร่วมกันก่อเป็นเจดีย์ทราย ปักธง ตอนกลางคืน จุดเทียนสว่างไสว นำครอบครัวมาร่วมสวดมนต์และรับศีลรับพร ทำบุญร่วมกันเพื่อหวังความสงบสุขในชีวิตทั้งชาตินี้และชาติหน้า.

ปูชนียบุคคลที่เคารพสักการะ: รูปปั้นเหมือนพ่อท่านเสน อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๑ ประดิษฐานอยู่ในศาลาวัดและสถูป(บัว)ของพ่อท่านเสนซึ่งตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางลานวัด ใกล้ ๆกับโรงครัว เวลามีเหตุทุกข์ร้อน หรือประสงค์สิ่งใด มักมีผู้ไปบนบานตามความเชื่อและศรัทธาเฉพาะตนแล้วมักจะสำเร็จสมประสงค์ตลอดมา.

อุโบสถหลังเก่าวัดน้ำขาวใน



ประวัติอุโบสถวัดน้ำขาวใน (หลังแรก)

สมัยเจ้าอาวาสรูปที่ ๑-๓ การจัดสร้างเสนาสนะ จัดทำกันแบบชั่วคราว หลังคามุงด้วยจาก (สิเหรง) เพียง ๓ – ๔ ปี ก็ชำรุดทรุดโทรม แต่ก็ได้ช่วยกันบำรุงรักษามาตามยุคตามสมัย ตามกำลังศรัทธาของประชาชนในสมัยนั้น ๆ ให้เจริญขึ้นคราวละเล็กคราวละน้อยเรื่อย ๆ มาเป็นลำดับ

สมัยเจ้าอาวาสรูปที่ ๔ ( ถึง พ.ศ.๒๔๓๖) คือ ท่านอาจารย์แก้ว (พ่อท่านหัวพาน) ท่านได้จัดสร้างอุโบสถหลังนี้ขึ้น ยาว ๑๒ เมตร กว้าง ๙ เมตร หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา จากเอกสารบันทึกประวัติวัดน้ำขาวใน ของหลวงปู่พรหม ได้เขียนไว้ว่า “นี่นับเป็นครั้งแรกที่กระเบื้องดินเผาได้ถูกนำเข้ามาในวัดนี้ ราวปี พ.ศ.๒๔๓๑” และได้ขยายเขตวัดมาทางทิศเหนือ เพราะเห็นว่าบริเวณเดิม( ร.ร.ชุมชนวัดน้ำขาวใน) เป็นที่ไม่เหมาะสม เพราะอยู่ชิดติดกับคลอง น้ำมักท่วมและกระแสน้ำเซาะตลิ่ง ทำให้สิ่งก่อสร้างเกิดเสียหายเลยจัดวางแผนผังของวัดเสียใหม่ โดยขุดคูรอบ ๆ บริเวณพร้อมกับสร้างอุโบสถหลังแรกที่มั่นคงยิ่งขึ้น

สมัยเจ้าอาวาสรูปที่ ๖(พ.ศ.๒๔๕๑ – ๒๔๕๙) คือ ท่านอาจารย์อ่ำ ท่านองค์นี้มีผู้คนนิยมนับถือมาก ท่านเป็นผู้ที่มีระเบียบเรียบร้อยตามสมณวิสัยเพศ ในด้านกิจกรรมเกี่ยวกับการบูรณะวัด ท่าน ได้รื้อโรงอุโบสถหลังเก่าเพื่อสร้างขึ้นใหม่ มีความถาวรมั่นคงยิ่งกว่า ดังที่เห็นอยู่จนถึงทุกวันนี้

สมัยเจ้าอาวาสองค์ที่ ๑๐ (พ.ศ.๒๕๓๔ – ๒๕๕๗) คือ พระครูโชติธรรมวัตร (แสง โชติธมฺโม) ปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ท่านได้ดำเนินการเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณจากทางราชการ เพื่อบูรณะซ่อมแซม โดยได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่ ๑๐ สงขลาไว้แล้ว จำนวนเงิน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยทางวัดได้จัดสรรงบประมาณสมทบเข้าร่วมโครงการบูรณะซ่อมแซม ๑๐๐,๐๐๐ บาทด้วย บัดนี้กำลังดำเนินการบูรณะซ่อมแซมโดยยึดรูปลักษณ์ ศิลปลวดลายและรูปทรงตามแบบช่าง เดิม ๆ.

อุโบสถหลังใหม่วัดน้ำขาวใน



ประวัติอุโบสถวัดน้ำขาวใน (ปัจจุบัน)

อุโบสถวัดน้ำขาวในปัจจุบัน สร้างขึ้นในสมัยเจ้าอาวาสองค์ที่ ๘ (พ.ศ.๒๔๖๙ – ๒๕๑๓) คือ พระครูพรหมวุฒาจารย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๔ ได้จัดการก่อสร้างโรงอุโบสถแบบถาวรขึ้น เพราะอุโบสถหลังเก่า ซึ่งเจ้าอาวาสองค์ที่ ๖ ท่านอาจารย์อ่ำ ได้สร้างไว้ก่อนนั้น มีขนาดเล็กไม่สะดวกแก่การทำสังฆกรรม โรงอุบสถที่สร้างขึ้นใหม่นี้ ได้ขอพระบรมราชานุญาตย้ายจากสถานที่เดิม มาทางทิศเหนือของโรงอุโบสถหลังเก่า มีเนื้อที่กว้างยาวเข้าหลักเกณฑ์ผืนผ้า ยาว ๒๐ เมตร กว้าง ๑๐ เมตร ใช้คอนกรีตทั้งตัวอาคาร ( เว้นแต่จันทันและระแนง ) โรงอุโบสถหลังใหม่นี้ ได้เริ่มลงมือทำการก่อสร้างเมื่อ วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๔ ตรงกับวันจันทร์ แรม ๘ ค่ำ เดือนยี่ ปีเถาะ ได้ขุดร่องคูวางรากฐาน กว้าง ๑ เมตร ลึก ๑.๕ เมตร ใช้ไม้เข็มยาว ๓ เมตร ใหญ่โดยรอบ ๑๒ นิ้ว ตอกลงไปโดยรอบ ๒๐๐ ตัว โดยเฉพาะที่เสาใช้เข็มเสาละ ๙ ตัว ในการก่อสร้างโรงอุโบสถได้กระทำกันมาเรื่อย ๆ มาจนถึงปี พ.ศ.๒๕๐๔ ก็เสร็จเรียบร้อย คิดเป็นเงินงบประมาณในการก่อสร้างทั้งหมด ๒๓๙,๗๔๑ บาท ( สองแสนสามหมื่นเก้าพันเจ็ดร้อยสี่สิบเอ็ดบาทถ้วน ) เงินจำนวนนี้มีผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันบริจาค เวลาทำการก่อสร้าง ๑๑ ปี ครั้นย่างเข้าปี พ.ศ.๒๕๐๕ ทางคณะกรรมการของวัดจึงได้นัดประชุมกัน เห็นสมควรจัดงานฉลองและผูกพัทธสีมา ( ฝังลูกนิมิต ) เพื่อให้เป็นหลักของพระพุทธศาสนา โดยกำหนดจัดงานขึ้น ๔ วัน ๓ คืน

- วันพฤหัสบดีที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๐๕ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๗ เริ่มงาน
- วันอาทิตย์ ที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๐๕ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๗ เป็นวันลูกนิมิตลงหลุม พระสงฆ์ประชุมกันในโรงพระอุโบสถ สวดสมมติสนานสังวาสสีมา เป็นอันสำเร็จพิธีผูกพัทธสีมาตามพระพุทธานุญาต.

อุโบสถวัดน้ำขาวนอก


อุโบสถวัดน้ำขาวนอก (วัดออก)

สร้างเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงเจริญพระชนมายุ ๘๔ พรรษา พ.ศ. ๒๕๔๐

ขนาดกว้าง ๑๓ เมตร ยาว ๒๔ เมตร ยกจากพื้นดินสูง ๒.๙๕ เมตร จากพื้นถึงตัวอุโบสถยกขึ้นเป็น ๓ ชั้น อุโบสถเป็นแบบยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่ ๓) โดยได้ประยุกต์ตามแบบพระอุโบสถ พระวิหารพระศาสดาและพระอุโบสถคณะรังสี วัดบวรนิเวศวิหาร มีการตัดและต่อเติมบางส่วน

สถาปนิกผู้ออกแบบ อาจารย์วนิดา พึ่งสุนทร (ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์:๒๕๔๖)

ผู้ดำเนินการก่อสร้าง พระโสภณคณาภรณ์ (จิรพล อธิจิตโต พรหมทอง) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร

การวางศิลาฤกษ์ โดย ฯพณฯ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี เมื่อวันที่ ๒๐ก.พ.๒๕๓๗ เมื่อเวลา ๑๐.๐๙ น.และเริ่มก่อสร้างในเดือน ม.ค. ๒๕๓๘


พระพุทธปฏิมาประธาน ทำพิธีเททองหล่อ ณ สนามหน้าพระอุโบสถ คณะรังสี วัดบวรนิเวศวิหารสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก เสด็จทรงเป็นประธานเททองเมื่อวันเสาร์ที่ ๗ ต.ค. ๒๕๓๘ พระพุทธปฏิมาประธานพระพุทธชินสีห์พร้อมด้วยอัครสาวกเบื้องซ้ายและขวา มีคุณช้อย สิทธิสงคราม คุณจำปี เสถียรธรรมณี และคุณณรงค์ โมรินทร์ บริจาคทุนทรัพย์ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท สาธุชนทั้งหลายร่วมสมทบทุนในการสร้างโดยฝีมือช่างปั้นกรุงเทพฯ

ภาพฝาผนังตอนบน เป็นภาพนภากาศ ประดับด้วยเมฆหมอก มีเทพบุตรเทพธิดา บูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเครื่องสักการะต่างๆ

ภาพฝาผนังตอนล่าง เป็นภาพป่าหิมพานต์ ประกอบด้วยหมู่แมกไม้ ภูเขา ถ้ำ โขดหิน ทิวทัศน์ และหมู่สัตว์ป่าหิมพานต์หลากหลายชนิด

วิสุงคามสีมา เขตวัดน้ำขาวนอก กว้าง ๒๓.๖๐ เมตร ยาว ๔๔.๕๐ เมตรได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๙ พ.ย.๒๕๔๐


อุโบสถหลังเก่าวัดน้ำขาวนอก



อุโบสถหลังเก่า (พิพิธภัณฑ์ชุมชนน้ำขาว)

สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒-๒๔๗๘ สมัยเจ้าอาวาสรูปที่ ๖ (ท่านอาจารย์หนู) ในเขตสีมาเดิม ลักษณะอาคารทรงไทยภาคใต้ กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๑๕ เมตร แต่เดิมรอบอุโบสถกั้นด้วยลูกกรงไม้ สูง ๑,๕๐ เมตร ปล่อยโล่งด้านบน โดยนายช่าง คงทอง เป็นหัวหน้าร่วมกับประชาชนชาวน้ำขาวและชุมชนใกล้เคียง ดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ ใช้ระยะเวลา ๗ ปี

มีคำจารึกเขียนไว้ตรงเพดานอุโบสถว่า “ช่างคงทองออกวัดได้จัดทำ...
” คำจารึกการสร้างอุโบสถได้บันทึกไว้ว่า

“เมื่อ พ.ศ.๗๒ ต้องตำรา...(ตัวอักษรเลือนราง)... ขึ้น ๑๑ วันศุกร์สนุกสบาย
พวกหญิงชายชุ่มเชิ่นเจริญศรี อย่าทะนงสงสัยในข้อนี้
ถึงวันที่ ๑๖ ยกเสา (เอก) กว่าจะสำเร็จได้ ๗ ขวบ
จึงรวบรวมกันปล้ำทำแต่หมู่เรา ส่วนราคาค่าจ้างช่างไม่เอา
เพราะจิตร์เขารักใคร่ฝ่ายศาสนา ช่างคงทองออกวัดได้จัดทำ
เมื่อสำเร็จเสร็จการคิดงานฉลอง เมื่อ ๑๒ มิถุนา พ.ศ.๗๘
ผมตราไว้จะให้รู้ความตามปัญหา ท่านทั้งหลายใกล้ไกลที่ไปมา
รู้กิจจาข้อคดีเท่านี้เอย.
ขยายความจากข้อความที่จารึก

“เมื่อ พ.ศ.๗๒ ต้องตำรา...” พ.ศ.๒๔๗๒ ตรงกับปีมะเส็ง วันศุกร์ขึ้น ๑๑ค่ำ เดือน ๙ วันที่ ๑๖ เดือนสิงหาคม ในรัชกาลที่ ๗ เป็นปีที่ ๕ ของการขึ้นครองราชย์... วัดน้ำขาวนอก ร่วมกับช่างฝีมือ คือนายช่าง คงทอง เป็นหัวหน้า ระดมชาวบ้านน้ำขาวและชุมชนใกล้เคียง ทั้งหญิงชายให้มาช่วยกันยกเสา (เอก) ของอุโบสถ ดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ ใช้ระยะเวลา ๗ ปี โดยช่างไม่คิดค่าแรง สะท้อนวิถีชีวิตชุมชนของคนน้ำขาวในอดีต ที่มีความศรัทธา เสียสละ สามัคคี และเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งไม่หวังผลตอบแทน...

“เมื่อสำเร็จเสร็จการคิดงานฉลอง เมื่อ ๑๒ มิถุนา พ.ศ.๗๘...” พ.ศ. ๒๔๗๘ ตรงกับปีกุน วันพุธขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๗ วันที่ ๑๒ เดือนมิถุนายน ในรัชกาลที่ ๘ เป็นปีที่ ๒ ของการขึ้นครองราชย์ ... วัดน้ำขาวนอก ร่วมกับชาวน้ำขาวและผู้มีจิตศรัทธา ร่วมจัดงานฉลองอุโบสถขึ้น ในงานจัดให้มีการละเล่นที่เป็นที่นิยมของคนสมัยนั้น คือการรับหนังตะลุงมาเล่นแข่งขันกัน ๒ โรง ระหว่างหนังอั้น กับ หนังแดง คอบาก...

ในปี พ.ศ.๒๕๓๕ ได้มีการบูรณะ โดยได้ทำการก่ออิฐโบกปูนติดตั้งประตูหน้าต่างและจัดสร้างบันไดขึ้นลงทั้ง ๔ ด้าน เทคอนกรีตโดยรอบเชิงชายด้านนอกอุโบสถ.

บริเวณภายในอุโบสถ

พระประธานองค์เดิม

มีพระพุทธรูปปางขัดสมาธิเพชร เป็นพระประธานองค์เดิม ขนาดหน้าตักกว้าง ๕๙ เซนติเมตร จารึกไว้ว่า “คุณหญิงทรงพลภาพขุนพลธร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐” เป็นพระพุทธรูปเก่า สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือปั้นหล่อ โดยช่างถ้องถิ่นปักษ์ใต้ ไม่ทราบปีที่สร้าง ...

พระประธานองค์ใหม่

ขนาดหน้าตักกว้าง ๙๙ เซนติเมตร ชื่อ “พระสัมพุธโธภาสพรรณี ชินศรีวรลักษณทัต นริศราธิเบศรโลกเชฏฐพิชิตมาร วรญาณบพิตร” คณะจีนไหหลำสร้างถวาย วัดธรรมประดิษฐ์ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา พ.ศ. ๒๕๑๐ ต่อมาพระภัทรธรรมธาดา วัดดอนรัก ได้นำมาถวายพระครูเกษมวรคณี จึงได้ประดิษฐานเป็นพระประธานแทนองค์เดิม

ลักษณะภายในอุโบสถที่ฐานพระประธาน ทำเป็นแท่นสูง ๐.๙๐ เมตร กว้าง ๑.๕๖ เมตร ยาว ๓.๒๐ เมตร พื้นภายในทำเป็น ๒ ชั้น ตรงกลางยกเป็นอาสน์สงฆ์สูง ๙ เซนติเมตร กว้าง ๔.๗๐ เมตร ยาว ๙.๗๖ เมตร รอบ ๆ อาสน์สงฆ์ต่ำลงมาเป็นที่นั่งของอุบาสก อุบาสิกา

ปี พ.ศ.๒๕๔๙ วัดน้ำขาวนอก ร่วมกับบรรดาศิษยานุศิษย์ของพระอมรมุนี (พระมหาสุทิน)กับ พระราชวิสุทธิญาณ (พระมหาจิรพล)เปิดใช้อุโบสถหลังเก่า ประกอบพิธีฉลองสมณศักดิ์ของท่านเจ้าคุณทั้งสองรูป เนื่องในคราวได้รับพระราชทานชั้นยศเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญและเลื่อนชั้นยศที่สูงจากชั้นสามัญเป็นชั้นราชขึ้นในคราวเดียวกัน นับเป็นเกียรติประวัติที่สำคัญยิ่งของคนน้ำขาว

ปี พ.ศ.๒๕๕๔ พระราชวิสุทธิญาณ ได้ดำริที่จะจัดตั้งและให้การสนับสนุนงบประมาณ เพื่อจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนน้ำขาวขึ้น สำหรับเป็นที่เก็บรวมรวมวัตถุ สิ่งของเครื่องมือ เครื่องใช้ ทั้งของชุมชนและของวัด เพื่อวัตถุประสงค์เป็นแหล่งเรียนรู้และศูนย์รวมคลังปัญญาของชุมชน และเห็นว่าอุโบสถหลังเก่าเหมาะที่จะเป็นสถานที่จัดเก็บ โดยกำหนดให้มีการจัดทำและเปิดใช้อย่างเป็นทางการขึ้น ในวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๔ โดยนายกองค์บริหารส่วนจังหวัดสงขลา (นายอุทิศ ชูช่วย)

ศาลาการเปรียญน้ำขาวนอก

ศาลาการเปรียญ (โรงธรรมหลังเก่า)

ศาลาการเปรียญ (โรงธรรม) กว้าง ๙.๐๐ เมตร ยาว ๑๓.๐๐ เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๒-๒๔๙๔ เป็นอาคารทรงไทยภาคใต้ เป็นศาลายกสูงจากพื้นดินประมาณ ๐.๘๐ เมตร จากเสาไปจรดหลังคาทำด้วยไม้ หลังคา ๓ ชั้น ลดหลั่นกันลงมาตามลำดับ มุงกระเบื้องเกล็ดปลา บริเวณโดยรอบส่วนล่างกั้นเป็นลูกกรงไม้ ส่วนบนปล่อยโล่งไว้ มีบันได ประตูทางขึ้น-ลง ๓ ทาง ภายในด้านทิศตะวันตก ยกเป็นอาสน์สงฆ์ ข้างอาสน์สงฆ์ทั้ง ๒ ด้าน ทำเป็นห้อง ข้างละห้อง บนอาสน์สงฆ์ฝั่งที่ติดกับฝาผนังทิศตะวันตกประดิษฐานพระปฏิมาประธาน ชื่อ “พระพุทธศรีสรรเพ็ชร”

พระครูเกษมวรคณี(บ่าว) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง โดยได้นำพระภิกษุ-สามเณร และอุบาสก อุบาสิกาช่วยกันสร้างจนแล้วเสร็จและได้ใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนพิธีต่าง ๆ มาตลอด ในคราวที่ทางราชการจะเปิดโรงเรียนประถมศึกษา ระดับชั้นปีที่ ๕ – ๗ ประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๘-๒๕๑๒ ยังไม่มีสถานที่สำหรับนักเรียนเพียงพอ ก็ได้ใช้ศาลาการเปรียญหลังนี้เป็นอาคารเรียนชั่วคราว

เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๓๑ ได้ทาสีใหม่หมดทั้งหลัง

เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๕ ได้ซ่อมแซมใหม่บางส่วนที่ชำรุด ติดลวดลายฉลุที่เชิงชายด้านล่างโดยรอบ ติดกระจกบานหน้าต่าง ทาสีใหม่เพื่อใช้ในงานผูกพัทธสีมา – ฝังลูกนิมิตด้วย

ในปี พ.ศ.๒๕๕๔ ได้ทำการทาสีใหม่หมดทั้งหลัง เทคอนกรีตเพื่อปรับระดับพื้นด้านล่าง เพื่อใช้ในงานฉลองศาลาการเปรียญหลังใหม่ ระหว่างวันที่ ๑๓ –๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๔

ปัจจุบัน ยังใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนพิธีต่างๆ

กุฎิหลวงปู่พรหม



กุฎิหลวงปู่พรหม

กุฏิหลวงปู่พรหม สร้างขึ้นเมื่อประมาณช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๖ – ๒๕๐๗ ตามคำบอกเล่า กุฏิเดิมของหลวงปู่พรหมเป็นตัวเรือนหลังเล็ก ๆ มีลักษณะยกสูง ๒ เมตร หลังคามุงด้วยจาก (สิเหรง) ตั้งอยู่ตรงด้านหลังของโรงอุโบสถ ต่อมาเมื่อสร้างอุโบสถเสร็จแล้ว บรรดาลูกศิษย์ต่างเห็นพร้อมกันว่ากุฏิที่พักเดิมไม่เหมาะสมเพราะทำเลที่ตั้งถูกบดบังมุมมองและทิวทัศน์ด้วยอุโบสถ ซึ่งอยู่ด้านหน้าของกุฏิ จึงได้ช่วยกันหามไปตั้งไว้ทางด้านทิศใต้ ต่อมาเห็นว่ากุฏิหลังเดิมเก่าแก่และชำรุดมากแล้วจึงได้พร้อมใจกันสร้างกุฏิหลังใหม่ขึ้นตรงที่ที่ปรากฎให้เห็น ณ ปัจจุบัน โดยต่างระดมช่างฝีมือที่มีจิตใจฝักใฝ่ในพระศาสนาและชาวบ้านช่วยกันเลื่อยไม้จากป่าซึ่งยุคนั้นป่าไม้ยังมีอุดมสมบูรณ์ ไม้ที่นิยมนำมาสร้างบ้านมีไม้มะค่า ไม้ตะเคียน ไม้หลุมพอ ส่วนหิน ทรายก็ไปขุดและขนมาจากบริเวณทางขึ้นควนธงปัจจุบัน โดยสร้างเป็นกุฏิมีลักษณะเป็นเรือน ๒ ชั้น ชั้นบนเป็นเรือนไม้มี ๑ ห้องนอน มีระเบียงยื่นออกไปทางด้านหน้า ประมาณ ๑ เมตร ชั้นล่างก่อผนังด้วยอิฐฉาบปูนมี ๑ ห้องนอน หลังคามุงกระเบื้อง ใช้ระยะเวลาก่อสร้างจนแล้วเสร็จประมาณ ๒ ปี กุฏิหลังนี้หลวงปู่พรหมได้ใช้เป็นที่พำนักอยู่ถึงวันมรณภาพ และต่อมาได้ใช้เป็นสถานที่เก็บสรีระสังขารของท่านเอาไว้เพื่อรอวันพระราชทานเพลงศพด้วย

ประเด็นธรรมตามคำบอกเล่า: หลักฐานยืนยันถึงความสมถะ ความพอเพียง ความเรียบง่ายของหลวงปู่พรหม จากศิษยานุศิษย์และผู้ใกล้ชิดเล่าว่า หลังจากสร้างกุฏิหลังนี้เสร็จใหม่ๆ ได้นิมนต์ให้ท่านไปอยู่ ณ กุฏิหลังใหม่แห่งนี้ โดยที่ไม่สู้จะเต็มใจ ท่านบอกว่ากุฏิเดิมสบายดีอยู่แล้วและเรื่องราวน่าคิดสะกิดธรรม... ในบรรดานายช่างที่ต่างระดมกันมาสร้างกุฏิหลังนี้จนสำเสร็จสมัยนั้น ปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๕๘) ต่างก็เข้ามาบวชและเจริญธรรมอยู่ในร่มบวรพระพุทธศาสนา เช่นนายช่างผู้วางรากฐานและขุดหลุมฝังเสา คือนายช่างจ้วน หรือนายวิชัย สุวรรณมณี ปัจจุบันคือ พระครูพิพัฒน์สังฆกิจ (วิชัย อภิวิชโย) เจ้าอาวาสวัดน้ำขาวใน และอีกท่านหนึ่งนายช่างที่มารับมือสร้างต่อ คือ นายช่างเขื้อน หรือนายสุวัฒน์ ศรีพรมทอง ปัจจุบัน คือพระครูสีลวรวัฒน์ (สุวัฒน์ อุปฺผคนฺโธ)เจ้าอาวาสวัดบ้านใหม่ ต.พังลา อ.สะเดา เหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นคงเป็นผลด้วยบุญบารมีธรรมของหลวงปู่พรหมช่วยเสริมส่ง...มิใช่เพราะความบังเอิญเป็นแน่แท้.

วิหารบูรพาจารย์สถิต


วิหารบูรพาจารย์สถิต

ขนาดกว้าง ๓.๒๐ เมตร ยาว ๔ เมตร เป็นรูปทรงไทย โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ยกพื้นสูงประมาณ ๑ เมตรติดประตู – หน้าต่าง พื้นปูกระเบื้องเคลือบ ยกฐานสูงประมาณครึ่งเมตรเป็นแท่นประดิษฐานรูปปั้นอดีตเจ้าอาวาส ๒ รูปคือ



๑. พ่อท่านหนู เจ้าอาวาสรูปที่ ๖ ท่านเป็นผู้ที่เคร่งครัดในศีล มีสัจจะวาจาพูดจริงทำจริงจนชาวบ้านในชุมชนเสื่อมใสศรัทธายึดเป็นที่พึ่งทางใจ มีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ โรคภัยไข้เจ็บ มักเข้าหาพ่อท่านหนู ให้ท่านช่วยขจัดปัดเป่าจนหายขาด ที่ฐานรูปปั้นบรรจุอัฐิ(กระดูก) และอังคาร(ขี้เถ่า) อยู่ด้วย เดิมบรรจุไว้ที่ยอดสถูป(บัว) ของท่าน รูปเหมือนเป็นรูปปั้นที่ปั้นโดยช่างสงขลา

๒. พระครูเกษมวรคณี (บ่าว อรินทโม) เจ้าอาวาสรูปที่ ๗ ท่านเป็นพระนักปฏิบัติพัฒนา และสมถะเคร่งครัดในศีล พูดน้อยแต่แฝงนัยยะทางธรรมให้ได้ขบคิด เป็นแกนนำสำคัญในการพัฒนาถนน สะพานที่ประชาชนใช้เป็นเส้นทางคมนาคม ที่ใต้ฐานรูปปั้นบรรจุอัฐิ (กระดูก)อยู่ด้วย ปั้นและเททองหล่อที่กรุงเทพฯ ขนาดโตกว่าองค์จริงเล็กน้อย



ปัจจุบันเป็นสถานที่ที่ประชาชนทั่วไปให้ความเคารพและถือโอกาสมาสักการบูชากราบไหว้ ขอพรและบนบานสิ่งทีพึงประสงค์อยู่มิได้ขาด.

ประวัติพระอาจารย์ทองแก้ว


ประวัติพระอาจารย์ทองแก้ว (พ่อท่านหัวพาน)

อาจารย์ทองแก้ว เจ้าอาวาสรูปที่ ๔ ( - พ.ศ.๒๔๓๖) ท่านเป็นผู้ที่คนในชุมชนให้ความนับถือเพราะเป็นพระที่เคร่งครัดในด้านพระพุทธศาสนาและเป็นพระนักพัฒนา ได้จัดสร้างโรงอุโบสถหลังแรกขนาดยาว ๑๒ เมตร กว้าง ๙ เมตร มุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผา นับเป็นครั้งแรกที่กระเบื้องดินเผาได้ถูกนำมาใช้ในตำบลน้ำขาว ประมาณราวปี พ.ศ. ๒๔๓๑ ท่านได้ทำการขยายเขตวัดมาทางทิศเหนือเพราะบริเวณที่ตั้งเดิม(ร.ร.ชุมชนวัดน้ำขาว) อยู่ติดกับคลอง เมื่อถึงฤดูน้ำหลากทำให้กระแสน้ำกัดเซาะตลิ่งทำให้สิ่งก่อสร้างเสียหาย จึงจัดวางแผนผังวัดใหม่ โดยการขุดคูบริเวณรอบๆวัด ประกอบกับขณะนั้นท่านได้เป็นกำลังสำคัญในการก่อสร้างเจดีย์ควนธง โดยร่วมกับอุปัชฌาย์พุธ เจ้าอาวาสวัดน้ำขาวนอก ราวปี ๒๔๓๒ อาจารย์ทองแก้วได้เปลี่ยนแปลงคณะสงฆ์จากเดิมสังกัดคณะมหานิกายมาเป็นคณะธรรมยุตินิกายตั้งแต่นั้นมา อาจารย์ทองแก้วมีวิชาอาคม เป็นที่เชื่อถือของคนในชุมชน วิชาการต่อกระดูกของท่านเป็นที่เลื่องลือ ซึ่งคนในชุมชนยุคนั้นนับถือกันมาก หลังจากท่านได้มรณภาพไปแล้ว วิชาการต่อกระดูกของท่านก็ได้รับการถ่ายทอดต่อๆกันมา ถึง หมอหนูแก้ว ศรีสุวรรณ บ้านคูตีน หมอลั่น ชายพรม บ้านน้ำขาวกลาง หมอพัน รอดคง ม. ๖ บ้านน้ำขาวตก


อาจารย์ทองแก้วได้ถึงแก่มรณภาพด้วยวัยชราเมื่อปีพ.ศ. ๒๔๓๖ ส่วนอัฐิของท่านได้เก็บใส่ขวดโหลแก้วนำไปฝังไว้โคนต้นไทรใหญ่ บริเวณหัวสะพาน เชื่อมระหว่าง ม.๖ บ้านน้ำขาวตก กับ ม. ๙ บ้านต้นเหรียง เป็นที่เคารพบูชาของผู้ที่ผ่านไปมา จึงเรียกสถานที่นี้ว่า พ่อท่านหัวพาน จนถึงปัจจุบัน

ประวัติพระครูพรหมวุฒาจารย์



ประวัติพระครูพรหมวุฒาจารย์ (หลวงปู่พรหม)

นามเดิม พรม แก้วศรี ถือกำเนิดที่บ้านคูย่างควาย หมู่ที่ ๘ ต.น้ำขาว อ.จะนะ จ.สงขลา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ ปีมะเส็ง บิดาชื่อนายเพชรแก้ว มารดาชื่อนางเรือง แก้วศรี มีพี่น้องร่วม ๖ คน

ตอนปฐมวัยไม่มีโรงเรียน ได้ศึกษาภาษาไทยกับพระภิกษุที่วัดน้ำขาวใน (วัดตก) จนอ่านออกและเขียนได้คล่อง กระทั่งอายุ ๑๘ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดมัชฌิมวาส(วัดกลาง) สงขลา พระครูวิสุทธิโมลี เจ้าอาวาสวัดมัชฌิมวาส(วัดกลาง) เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ได้อุปสมบทที่วัดมัชฌิมวาส (วัดกลาง) อีกครั้ง โดยมีพระอโนมคุณมุนี เจ้าคณะจังหวัดสงขลาเป็นพระอุปัชฌาย์ ภายหลังได้กลับมาจำพรรษา ณ วัดน้ำขาวใน (วัดตก) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดน้ำขาวใน (วัดตก) และรับเป็นผู้อุปถัมภ์โรงเรียนประชาบาลวัดน้ำขาวใน เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๖

ปี พ.ศ.๒๕๐๒ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตร “พระครูพรหมวุฒาจารย์” ตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอจะนะ-เทพา ครองตำแหน่งนี้อยู่ราว ๑๐ ปี ก็ถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๑๒ เวลา ๑๘.๑๐ น.

พระครูพรหมวุฒาจารย์ (หลวงปู่พรหม) เป็นพระนักปฏิบัติและนักพัฒนา ท่านได้อบรมสั่งสอนภิกษุสามเณรทั้งด้านศาสนกิจและอบรมฝึกหัดวิชาช่างไม้ด้วย ต่อมาท่านได้สร้างอุโบสถหลังใหม่แทนหลังเก่าที่คับแคบ ระยะเวลาสร้าง ๖ ปี เป็นผลงานชิ้นสุดท้าย และยังใช้เป็นที่ทำสังฆกรรมอยู่จนถึงปัจจุบัน

ในวันที่ ๑๖ มกราคม บรรดาศิษยานุศิษย์ร่วมกันจัดงานทำบุญอุทิศส่วนกุศล และรำลึกถึงวันคล้ายวันมรณภาพของท่านเป็นประจำทุกปี

เรื่องของความศักดิ์สิทธิ์และอภินิหาร เชื่อกันว่าบุคคลที่มีเหรียญของหลวงปู่พรหมไว้บูชาประจำตัวจะเกิดความปลอดภัยและแคล้วคลาดจากภยันตรายใด ๆ ดังที่เคยปรากฏให้เห็นเป็นประจักษ์ต่อบุคคลต่าง ๆ ทั้งในชุมชนน้ำขาวและทั่วไปมานับครั้งไม่ถ้วน

พระธาตุเจดีย์ควนธง



พระธาตุเจดีย์ควนธง

ประวัติความเป็นมา

ในรัชสมัยพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ราวปี พ.ศ. ๒๔๓๙ เจ้าพระยายมราช ( ปั้น สุขุม ) ข้าหลวงเมืองสงขลา มณฑลนครศรีธรรมราช ต้องการก่อสร้างเจดีย์บนภูเขา ซึ่งสามารถมองเห็นโดดเด่น เป็นสง่า เพื่อบรรจุพระบรมธาตุ ที่ได้รับมาจากลังกา จึงได้สั่งการให้ข้าราชบริพาร ออกทำการสำรวจ จนกระทั่งได้พบควนธง ในพื้นที่อำเภอจะนะ ซึ่งเป็นทำเลที่เหมาะมากที่สุด จึงได้ปักธงช้างเผือกและธงธรรมจักร ไว้เป็นหลักฐานสำคัญ

หนึ่งเดือนต่อมา นายคง ผู้นำชาวบ้านน้ำขาวพร้อมด้วยลูกบ้านได้ร่วมมือร่วมใจกันทำการก่อสร้างเจดีย์ แบบลังกา ทรงกลมฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดยาวด้านละ ๕ วา ตัวองค์เจดีย์ฐานทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง ๘ เมตร ( ๔ วา ) มีความสูงจากฐานถึงยอดเจดีย์ ๑๒ เมตร ( ๖ วา ) บรรจุพระบรมธาตุไว้ในส่วนกลางขององค์เจดีย์ โดยแบ่งพลพรรคออกเป็น ๔ กลุ่ม ดังนี้

· กลุ่มแรก อยู่พื้นราบใกล้คลองคู มีหน้าที่ทำอิฐ
· กลุ่มที่สอง เดินขึ้นลงทำหน้าที่รับส่งของ ระหว่างกลุ่มแรกกับกลุ่มที่สาม
· กลุ่มที่สาม เดินขึ้นลงทำหน้าที่รับส่งของ ระหว่างกลุ่มที่สองกับกลุ่มที่สี่
· กลุ่มที่สี่อยู่บนยอดควนธง มีหน้าที่อ่านแปลน และทำการก่อสร้างเจดีย์ควนธงจนแล้วเสร็จ ใช้เวลาในการก่อสร้าง ๒เดือนเศษ

ได้มีการจัดฉลองสมโภชน์เจดีย์ควนธง ๗ วัน ๗ คืน รับหนัง โนรา มา แสดง และมีการสวดชัยมงคลคาถา เพื่อเป็นศิริมงคลของเจดีย์ควบคู่กันไปด้วย ตรงกับกลางเดือนสามของปี



ต่อมาชาวบ้านน้ำขาว ได้พากันขึ้นไปกราบนมัสการเจดีย์ควนธง ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๕ พร้อมกับนิมนต์พระสงฆ์ เพื่อทำประทักษิณา และมีการเลี้ยงพระ ( ถวายพัตตาหารเพล ) เป็นประจำทุกปี.

ทวดต้นเลียบ



ทวดต้นเลียบ

ตามคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมา ...ต้นเลียบต้นนี้ มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) มีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ ปี เคยมีคนเห็นงูบองหลาขนาดใหญ่มาก (งูจงอาง) ๒ ตัว มาอาศัยอยู่ ในช่วงเดือนห้าหน้าแล้ง งูบองหลาทั้งสองตัวนั้นจะออกมาจากบริเวณต้นเลียบ ไปหาน้ำกินที่คลอง สมัยก่อนบริเวณนี้รกมาก ใครเข้ามาถึงกับหลงกลับบ้านไม่ถูก แม่ทวดครูทุม (อ.ประทุม หมวดเพ็ง) ชื่อแม่ทวด “บุญ” ก็เดินหลงเข้ามาในบริเวณที่แห่งนี้จนกลับบ้านไม่ถูกเสียชีวิตที่นี่เช่นเดียวกัน ชาวบ้านจึงเชื่อว่าต้นเลียบใหญ่ต้นนี้คงเป็นที่สิงสถิตของทวด เลยพากันเรียกว่า “ทวดต้นเลียบ” ปัจจุบันเป็นต้นไม้หลักของบ้านออกวัดที่แลดูสูงเด่นเป็นสง่า อยู่ตรงใจกลางหมู่บ้านมองเห็นมาแต่ไกล เชื่อว่ามีรุกขเทวดา และพากันนับถือต่อๆกันมา ตั้งแต่สมัยโบราณ ทุก ๆปี ในคืนวันที่ ๑๒ เมษายน ชาวบ้านจะจัดงานรับเทดา (เทวดา) ในวันที่ ๑๓ เมษายน จะมีการบูชาต้นเลียบ โดยการนำผ้าไปผูกรอบโคนต้นและในช่วงบ่ายจะจัดพิธีรดน้ำขอพรผู้สูงอายุ ที่ศาลาเอนกประสงค์ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับทวดต้นเลียบไปด้วย เป็นที่น่าสังเกตว่า หากกิ่งเลียบหักลงมาทางทิศใด มักจะมีผู้สูงอายุที่อยู่ทางทิศนั้น เสียชีวิต จะโดยเหตุบังเอิญหรืออะไรก็แล้วแต่ เหตุการณ์แบบนี้มีมาตั้งแต่สมัยอดีต และปัจจุบันก็ยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่เสมอ.

ทวดต้นประดู่

ทวดต้นประดู่

บ้านคูตีน หมู่ที่ ๒ ต.น้ำขาว อ.จะนะ จ.สงขลา



ต้นประดู่เป็นต้นไม้ใหญ่ ที่คงเหลือและเป็นศูนย์รวมใจให้ชาวบ้าคูตีน หมู่ที่ ๒ ตำบลน้ำขาวและหมู่บ้านใกล้เคียงรวมทั้งเยาวชนรุ่นหลังได้ร่วมกันทำประเพณีไหว้ทวดต้นประดู่ ที่สานต่อกันมาหลายชั่วอายุคน ซึ่งเดิมทีมีต้นไม้ใหญ่อยู่ในบริเวณหมู่บ้าน ๔ ต้น คือ ต้นประดู่ ต้นโพธิ์ ต้นไทร และต้นปาบ แต่ในเวลาต่อมา ด้วยความเจริญอีกทั้งด้านการพัฒนาชุมชน สร้างถนน จึงทำให้ต้องมีการตัดทำลายต้นไม้ เพื่อสร้างถนนสาย น้ำขาว – คลองแงะ จึงจำต้องตัดต้นไม้ซึ่งอยู่ตรงแนวถนน ๓ ต้นออกไปเหลือแต่ต้นประดู่ซึ่งไม่ได้อยู่ตรงแนวถนนเพียงต้นเดียว ปัจจุบันชาวบ้านคูตีนและหมู่บ้านใกล้เคียง ได้ทำการสักการบูชา และยึดเหนี่ยวจิตใจ ให้ความร่มเย็น ความสามัคคีของชุมชนมาช้านาน

พื้นที่ตรงบริเวณต้นประดู่ สมัยก่อนยังเคยเป็นค่ายทหาร ในสมัยสงคราม สยาม-ปัตตานี ปัจจุบันมีร่องรอยของแนวคันดินที่หลงเหลืออยู่ไม่มาก ลักษณะคล้ายบังเกอร์ ความยาวประมาณ ๑๐๐ เมตร ปัจจุบันเป็นสวนผลไม้ อยู่ในที่มีเอกสารสิทธิ์ของนายประสิทธิ์ หนูทองสุข



จากการสอบถามได้ข้อมูลเพิ่มเติมมาว่า เมื่อก่อนบริเวณต้นประดู่ยังเคยเป็นหมู่บ้าน เรียกกันว่า “บ้านเก่า” ซึ่งตอนนั้นมีโรคระบาดเกิดขึ้น ชาวบ้านจึงได้ย้ายหมู่บ้านไปทางด้านทิศตะวันออก ซึ่งเป็นหมู่บ้านคูตีน (คูค่าย) ในปัจจุบัน



นับแต่อดีตถึงปัจจุบันได้มีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านมาแล้ว รวมกัน ๗ คน ได้แก่ ๑. นายยอด ทองศรีแก้ว ๒.นายหนู แก้วศรีทอง ๓.นายนวล บุตรดำ ๔.นายเนียม ทองศรีนวล ๕.นายทอง ศรีสุวรรณ์ ๖.นายแจก ทองศรีแก้ว ๗.นายยุทธนา ศรีสุวรรณ์ ผู้นำทั้งหมดได้จัดให้มีพิธีรับเทวดาและพิธีไหว้ทวดต้นประดู่สืบทอดกันมา จนถึงปัจจุบัน



ประเพณีไหว้ทวดต้นประดู่ ภาคกลางคืนวันศุกร์ ตรงกับเดือน ๖ มีการรับเทวดา ณ ศาลากลางบ้าน ชาวบ้านรวมตัวกันพร้อมอาหารคาวหวาน ดอกไม้ ธูปเทียน เพื่อทำพิธีบวงสรวงเทวดา เช้าวันเสาร์ ชาวบ้านรวมตัวกันพร้อมอาหารคาวหวานอีกครั้งที่ศาลากลางบ้าน ร่วมขบวนแห่กลองยาวไปยังต้นประดู่ เพื่อประกอบพิธีไหว้ทวดต้นประดู่



การไหว้ทวดต้นประดู่ที่กำหนดให้ตรงกับวันเสาร์ เนื่องจากตรงกับวันหยุดราชการ ให้เด็ก ๆ ข้าราชการ ประชาชนที่หยุดงาน ได้มาร่วมทำพิธี บางคนแก้บน ตามที่ได้บนบานกับทวดต้นประดู่ไว้ เมื่อเสร็จพิธีทางพราหมณ์ก็จะร่วมรับประทานอาหารกันแบบเครือญาติพร้อมด้วยกิจกรรมบันเทิง เพื่อเสริมความเข้มแข็ง ความสามัคคีภายในหมู่บ้าน ดังคำขวัญของหมู่บ้าน “ต้นประดู่โพธิ์ไทร ร่วมใจพัฒนา สร้างจิตอาสา นำประชารุ่งเรือง”

ทวดต้นโก ศาลาฤๅษี

ทวดต้นโก ศาลาฤๅษี

บ้านนาหยาม หมู่ที่ ๑๐ ต.น้ำขาว อ.จะนะ จ.สงขลา

ต้นโก เป็นชื่อของต้นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง ในอดีตเป็นต้นไม้ใหญ่ยืนเด่นเป็นสง่าทอดกิ่งใบแผ่กว้างรกครึ้ม ใกล้กับเส้นทางสายหลักที่คนน้ำขาวและคนต่างถิ่นใช้สัญจรไป-มาภายในตำบลและระหว่างตำบลเพื่อออกไปสู่โลกภายนอก ตรงบริเวณทวดต้นโกและศาลาฤๅษีแห่งนี้จึงเป็นที่เปลี่ยว ร่ำลือกันว่ามีทวดต้นโกคุ้มคลองอยู่ ผู้คนที่เคยสัญจรผ่านไปมาจึงมักถูกลองดี เพราะ “ถูกผีหลอก” อย่าว่าแต่กลางคืนแม้กลางวันแสก ๆ ผีทวดต้นโกก็หลอก

โดยสภาพตามภูมิศาสตร์ของตำบลน้ำขาวมีลักษณะเป็นที่ลุ่มแอ่งกระทะ มีสายน้ำ ไหลทอดยาวมาจากแหล่งต้นน้ำป่ายืด ท่าสา สายหนึ่ง ไหลมารวมกับสายน้ำที่เกิดจากต้นน้ำเขาสระ เขาเหล็ก ที่บ้านคลองแงะ อีกสายหนึ่ง เรียกว่าสายน้ำ “คลองคู” แล้วไหลรวมกันลงสู่ที่ราบลุ่มบ้านน้ำขาว ด้วยความอุดมสมบูรณ์ที่สายน้ำ สายนี้ได้พัดพาเอาดินตะกอน เศษหินเศษไม้ลงมาทับถมตามเกาะแก่ง คดเคี้ยว ทำให้ต้นไม้ขนาดใหญ่มีอยู่โดยทั่วไปตลอดแนวตลิ่งของสายน้ำ โดยเฉพาะตรงบริเวณที่มีการตัดถนนผ่านจึงมักเกิดเป็นตำนานเล่ากันไปปากต่อปากว่าทวดแต่ละที่ดุไม่เหมือนกัน เช่นทวดต้นโกมักแสดงจริตให้ผู้คนที่สัญจรได้ยินเป็นเสียงเขย่ากิ่งไม้ หรือต้นไม้ที่รกครึ้มสองข้างสะพานชวนขนหัวลุกแม้ในยามกลางวัน ยุคก่อน พ.ศ.๒๕๐๐ ไม้สะพานทำด้วยไม้เคี่ยมทั้งต้นทอดข้ามเพียงดุ้นเดียว

ต่อมาหลังปี พ.ศ.๒๕๐๐ ทางการเริ่มพัฒนา การสัญจรของผู้คนหนาแน่นมากขึ้นสะพานก็เริ่มเปลี่ยนจากไม้ซุงท่อนเดียวเป็นไม้มะพร้าวทั้งต้นทอดข้ามเป็นทางคู่ขนานโดยใช้ “ขอปลิง” (ตัวอย่างขอปลิงดูที่พิพิธภัณฑ์ชุมชนน้ำขาว... วัดน้ำขาวใน )ตีประกบให้ยึดติดกันไว้ให้แน่น เพื่อให้รถยนต์แล่นผ่านได้โดยสะดวก เด็กๆ น้ำขาวในยุคสมัยนั้นนาน ๆ จึงได้เห็นรถยนต์แล่นเข้ามาสักครั้ง ส่วนมากจะเป็นรถยนต์ของพวกหนังฉายขายยา หนังตะลุง มโนรา และรถของพ่อค้าจากจะนะที่เข้ามาส่งสินค้าให้กับร้านค้าในน้ำขาว เมื่อรถยนต์เข้ามาเด็ก ๆ โดยเฉพาะที่อยู่ต้นทางแถวบ้านนาหยาม จะรู้และรีบส่งข่าวออกไป เพื่อชวนกันออกมาวิ่งไล่ตามรถยนต์อย่างสนุกสนานจนพ้นเขตหมู่บ้าน ...เป็นอยู่อย่างนี้เรื่อยมาจนผู้อาวุโสในหมู่บ้านท่านหนึ่งสังเกตเห็นว่าเด็ก ๆ ลูกหลานของท่านสนใจและชอบดูรถยนต์กันนักจึงได้พูดเปรย ๆ ขึ้นว่า “เดชะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของทวดต้นโก ขอให้รถยนต์หล่นพาน(ตกสะพาน)นี้ลงสักคันถิ... ให้โหมฺเด็กนี้(เด็กพวกนี้)มันได้แลรถกันให้เต็มตาสักที” หลังจากนั้นไม่นานรถยนต์ก็แล่นมาตกสะพานแห่งนี้จริง ๆ พวกเด็ก ๆ จึงได้ดูรถยนต์กันตามปราถนา ด้วยเหตุนี้ทวดต้นโกจึงกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของคนในหมู่บ้านนาหยาม หมู่ที่ ๑๐ และหมู่บ้านใกล้เคียงนับแต่นั้นมา ใครอยากได้อะไรหรือผิดหวังเรื่องใด จึงมักจะไปบนบาน แล้วจะได้สมประสงค์...ของแก้บนคือ น้ำตาลเมา สุรา น้ำหวาน และเสียงของลูกประทัด ต่อมาชาวบ้านจึงได้จัดสร้างศาลาและนำฤๅษีมาตั้งไว้แทนสัญลักษณ์ของทวดต้นโกที่ถูกน้ำเซาะตลิ่งจนล้มและตายไปในที่สุด.

ประเพณีและกิจกรรมสำคัญของหมู่บ้านที่ได้ทำสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน :

ประมาณปี พ.ศ.๒๕๑๕ ผู้ใหญ่บ้านพัน เทพรักษ์และชาวบ้านหมู่ที่ ๑๐ ร่วมกับอาจารย์ทวีป แก้วยอดได้จัดชกมวยการกุศลขึ้นเพื่อหาเงินมาบูรณะสะพานและถนนที่เป็นโคลนตม ในเวลาเดียวกันสำหรับภาคกลางวันก็ได้จัดพิธีบวงสรวงและไหว้ทวดต้นโกขึ้นด้วย ซึ่งถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้านมาก่อนหน้านั้นแล้ว พิธีดังกล่าวได้จัดทำร่วมกันมาทุกปี... ปัจจุบันในช่วงเดือน ๕ ของทุกปีชาวบ้านนาหยามจะให้หมอมาทำพิธีบวงสรวงไหว้พระภูมิเจ้าที่เจ้าทาง โดยเฉพาะที่ทวดต้นโก จัดชุมนุมเทวดา รับเทดาเสร็จแล้วจึงพากันไปร่วมทำกิจกรรมทางศาสนาที่ศาลาประชาคมของหมู่บ้านกันอย่างสามัคคีพร้อมเพรียง.

ป่าช้าต้นเมา


ป่าช้าต้นเมา (เปลวต้นเมา)

ป่าช้า คือที่สำหรับจัดไว้เพื่อฝัง หรือเผาศพ ป่าช้าต้นชะเมา (เปลวต้นเมา) ตั้งอยู่บ้านออกวัด หมู่ที่ ๓ ตำบลน้ำขาว มีเนื้อที่ประมาณ ๓ งาน โดยนายยิ่ง ศรีมณี และนายเอียด คงทอง ร่วมบริจาคที่ดินให้ ในอดีตบริเวณนี้เป็นที่รกชัฎมีย่านสะบ้าขึ้นปกคลุมต้นชะเมามืดคลึ้มน่าเกรงขาม หมู่บ้านที่นิยมนำศพมาเผาที่ป่าช้าต้นชะเมา คือ หมู่บ้านออกวัด หมู่บ้านต้นเหรียง หมู่บ้านเกาะแค หมู่บ้านเลียบ หมู่บ้านนาหยาม เมื่อมีคนตายเจ้าภาพนิยมตั้งบำเพ็ญกุศลศพไว้ที่บ้าน เป็นเวลา ๓ คืนก่อน ระหว่างงานก็ส่งข่าวให้ญาติพี่น้องไปร่วมบุญอุทิศส่วนกุศลศพ นิยมเรียกกันว่า “ไปถามข่าว” โดยพาข้าวสารและเกลือไปช่วยงาน ในวันกำหนดการฌาปณกิจศพ เจ้าภาพจะช่วยกันคาดไม้เป็นคานหามศพ ระหว่างเส้นทางหามศพไปป่าช้าจะมีพระขึ้นไปสวดคานหามด้วย ๔ รูป โดยมีวงกาหลอแห่นำขบวน วงกาหลอในยุคนั้นมี ๒ วง คือวงกาหลอของนายช่าง คงทอง กับวงกาหลอคณะของนายแดงกาหลอ บรรดาญาติพี่น้องเดินแห่ตามหลังขบวนศพ นิยมถือไม้ฟืนไปร่วมเผาศพด้วย ปริศนาธรรมเวลาแบกไม้ฟืนไปเผาศพต้องแบกไม้ฟืนเอาส่วนปลายไม้นำทางไป “การเกิดขึ้น คงอยู่ และดับไป ของชีวิตหนึ่งที่เวียนว่ายอยู่ในห้วงแห่งวัฏฏะ ถึงอย่างไรกายนั้นก็ไม่กลับมามีวันฟื้น เหมือนกับท่อนไม้ฟืนที่ไม่มีวันงอกและเจริญเติบโตขึ้นมาได้อีกหากเอาท่อนปลายฝังลงในดิน” การจัดที่สำหรับเผาศพนิยมนำเอาท่อนไม้ฟืนจัดเรียงซ้อนกันขึ้นเป็นชั้นๆ ยกสูงขึ้นเหนือระดับพื้นดิน เรียกว่า “เชิงกอน” บางศพทำเป็นเหมือนซุ้มปะรำยกสูง เสาทำด้วยไม้หมาก หรือไม้โอน มีหลังคาผ้าขาว เรียกว่า “เสาร่มไฟ” การยกศพขึ้นไปวางบนเชิงกอน จะยกขึ้นทั้งโลงไม้โดยหมอจะทำพิธีตามขั้นตอนทางไสยศาสตร์อย่างเคร่งครัด ก่อนเผาจะมีการดึงเสื่อที่รองศพให้ศพคว่ำหน้าลงและใช้ไม้เดาะเอากระดานท้องโลงออกมาเพื่อให้ไฟไหม้เข้าไปในโลงไม้ได้สะดวก ส่วนกระดานท้องโลงเจ้าภาพจะนำกลับไปเก็บไว้ที่วัดเพื่อรอศพต่อไปมาเรียกใช้บริการอีก สำหรับกระดานท้องโลงแรก ๆนิยมนำไปพิงไว้ข้างกุฏิใกล้ๆ ต้นทุเทียนเนื้อดีต้นหนึ่ง ก็เลยได้ชื่อเป็น “ต้นทุเรียนน้ำเน่า” หลังเผาเสร็จจะมีการเก็บกระดูกไปบังสุกุล และเก็บรักษาไว้ในสถูปที่วัดน้ำขาวนอก ส่วนเศษกระดูก ขี้ดิน ขี้เถ้าก็จะฝังไว้ที่ป่าช้า..



ต้นทุเรียนน้ำเน่า เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว ภาพนี้ถ่ายโดยครูยะนานมาแล้ว

หากเปรียบชุมชนน้ำขาวเหมือนต้นชะเมา ที่ตรงนี้คือรากแก้วของชุมชนที่ยึดโยงให้ชุมชนน้ำขาวได้เปลี่ยนแปลงและเจริญรุดหน้ามาจนถึงทุกวันนี้ แผ่นดินบนเนื้อที่เพียงไม่กี่ตารางวาตรงนี้ เป็นที่ฝังกลบเศษกระดูกเศษดินเศษขี้เถ้าของบรรพบุรุษของคนในชุมชนน้ำขาว ทับถมกันมาคนแล้วคนเล่า นับร้อย ๆ ปี



กิจกรรมสำคัญ : ทุกปีตรงกับวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ชุมชนน้ำขาวและละแวกใกล้เคียงจะร่วมกันทำบุญเปลว ลูกหลานชาวน้ำขาวทั้งไกลและใกล้ต่างก็กลับมาพบกัน ร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว ณ ที่ป้าช้าต้นชะเมา (เปลวต้นเมา) แห่งนี้ที่เป็นเสมือนกับบ้านแห่งสุดท้ายของคนน้ำขาวทุกคน.

การถวายทาน การให้ทานจะให้ผลน้อยหรือมากขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ ๓ ประการคือ

๑.สิ่งของที่จะให้ทานต้องบริสุทธิ์ คือต้องได้มาด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ของนี้ไม่จำเป็นจะต้องประณีต หรูหรา ราคาแพง ของเลวๆแทบไม่มีราคาเช่น “รำจี่”ของนางปุณณาก็ได้
๒. เจตนา คือ ความตั้งใจจะต้องบริสุทธิ์ ก่อนให้ กำลังให้ และหลังให้ จะต้องมีความเลื่อมใสไม่คิดเสียดายภายหลัง
๓. ผู้รับทานต้องบริสุทธิ์ คือ ผู้มีศีล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายเป็น”ปฎิคาหก” (ผู้รับ) ที่บริสุทธิ์ทานที่ให้จึงมีผลมาก ยิ่งพระอรหันต์ที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติแล้ว ผู้ถวายทานแก่ท่าน ย่อมได้ผลทันตาเห็น

ป่าช้าต้นมะม่วง



บทรำพึงในป่าช้า

ต้นเอ๋ยต้นไทร สูงใหญ่รากย้อยห้อยระย้า
และต้นโพธิ์พุ่มแจ้แผ่ฉายา มีเนินหญ้าใต้ต้นเกลื่อนกล่นไป
ล้วนร่างคนในเขตประเทศนี้ ดุษณีนอนราย ณ ภายใต้
แห่งหลุมลึกลานสลดระทดใจ เรายิ่งใกล้หลุมนั้นทุกวันเอย.
โดยพระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ)

บทกลอนที่ได้คัดมาเพื่อมุ่งแสดงความจริงของชีวิต สุดท้ายจบลง ตรงที่ตาย.



ป่าช้าต้นมะม่วง (เปลวต้นม่วง)

ป่าช้า คือที่สำหรับจัดไว้เพื่อฝังหรือเผาศพ ป่าช้าต้นมะม่วง(เปลวต้นม่วง) ตั้งอยู่บ้านน้ำขาวตก ม.๖ ต.น้ำขาว เดิมเป็นที่ดินของคนมุสลิมได้มีการแลกเปลี่ยนกัน เป็นที่รกชัฏมีต้นมะม่วงป่า (ม่วงคัน)อายุไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ ปี

เมื่อมีคนตายเจ้าภาพนิยมตั้งบำเพ็ญกุศลศพไว้ที่บ้านเป็นเวลา ๓ คืนก่อน ระหว่างงานก็ส่งข่าวให้ญาติพี่น้องไปร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลศพนิยมเรียกกันว่า “ไปถามข่าว” โดยพาเกลือและข้าวสารไปช่วยงาน ในวันฌาปณกิจศพเจ้าภาพจะช่วยกันคาดไม้เป็นคานหามศพ ระหว่างเส้นทางหามศพไปป่าช้าจะมีพระขึ้นไปสวดคานหามด้วย ๔ รูป โดยมีวงกาหลอแห่นำขบวน บรรดาญาติพี่น้องเดินแห่ตามหลัง นิยมถือไม้ฟืน (ไม้พลา)ไปร่วมเผาศพด้วย ปริศนาธรรมเวลาแบกไม้ฟืนไปเผาศพต้องแบกเอาส่วนปลายไม้นำทางไป “การเกิดขึ้น คงอยู่ และดับไป เหมือนกับท่อนไม้ฟืนที่ไม่มีวันงอกและเจริญเติบโตขึ้นมาได้อีกหากเอาท่อนปลายฝังลงดิน”

เชิงกอน คือการจัดที่สำหรับเผาศพ นิยมนำท่อนไม้ฟืนจัดเรียงซ้อนกันขึ้นเป็นชั้นๆ ยกสูงขึ้นเหนือระดับพื้นดิน หากเจ้าภาพมีบริวารลูกหลานมากก็ทำเป็น “เสาร่มไฟ”คือทำเป็นซุ้มปะรำยกสูง เสาทำด้วยไม้หมาก หรือไม้โอนมีหลังคาผ้าขาว หากมีขนาดเล็กลงมาหน่อยทำด้วยไม้ไผ่เรียกว่า “สามสร้าง” การยกศพขึ้นไปวางบนเชิงกอนจะยกขึ้นทั้งโลงไม้ โดยหมอจะทำพิธีตามขั้นตอนทางไสยศาสตร์อย่างเคร่งครัด

หลังเผาเสร็จจะมีการเก็บกระดูกไปบังสุกุลและเก็บรักษาไว้ในสถูป(บัว)ที่ป่าช้าและที่วัดน้ำขาวใน(วัดตก) ส่วนเศษกระดูก ขี้ดิน ขี้เถ้าก็จะฝังไว้ที่ป่าช้า

ทุกปีตรงกับวันแรม ๕ ค่ำเดือน ๕ ชุมชนน้ำขาวและละแวกใกล้เคียงจะร่วมกันทำบุญเปลว เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว.

........................................................

การถวายทาน การให้ทานจะให้ผลน้อยหรือมากขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ ๓ ประการคือ

๑.สิ่งของที่จะให้ทานต้องบริสุทธิ์ คือต้องได้มาด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ของนี้ไม่จำเป็นจะต้องประณีต หรูหรา ราคาแพง ของเลวๆแทบไม่มีราคาเช่น “รำจี่”ของนางปุณณาก็ได้

๒. เจตนา คือ ความตั้งใจจะต้องบริสุทธิ์ ก่อนให้ กำลังให้ และหลังให้ จะต้องมีความเลื่อมใสไม่คิดเสียดายภายหลัง

๓. ผู้รับทานต้องบริสุทธิ์ คือ ผู้มีศีล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายเป็น”ปฎิคาหก” (ผู้รับ) ที่บริสุทธิ์ทานที่ให้จึงมีผลมาก ยิ่งพระอรหันต์ที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติแล้ว ผู้ถวายทานแก่ท่าน ย่อมได้ผลทันตาเห็น