วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ป่าช้าต้นมะม่วง



บทรำพึงในป่าช้า

ต้นเอ๋ยต้นไทร สูงใหญ่รากย้อยห้อยระย้า
และต้นโพธิ์พุ่มแจ้แผ่ฉายา มีเนินหญ้าใต้ต้นเกลื่อนกล่นไป
ล้วนร่างคนในเขตประเทศนี้ ดุษณีนอนราย ณ ภายใต้
แห่งหลุมลึกลานสลดระทดใจ เรายิ่งใกล้หลุมนั้นทุกวันเอย.
โดยพระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ)

บทกลอนที่ได้คัดมาเพื่อมุ่งแสดงความจริงของชีวิต สุดท้ายจบลง ตรงที่ตาย.



ป่าช้าต้นมะม่วง (เปลวต้นม่วง)

ป่าช้า คือที่สำหรับจัดไว้เพื่อฝังหรือเผาศพ ป่าช้าต้นมะม่วง(เปลวต้นม่วง) ตั้งอยู่บ้านน้ำขาวตก ม.๖ ต.น้ำขาว เดิมเป็นที่ดินของคนมุสลิมได้มีการแลกเปลี่ยนกัน เป็นที่รกชัฏมีต้นมะม่วงป่า (ม่วงคัน)อายุไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ ปี

เมื่อมีคนตายเจ้าภาพนิยมตั้งบำเพ็ญกุศลศพไว้ที่บ้านเป็นเวลา ๓ คืนก่อน ระหว่างงานก็ส่งข่าวให้ญาติพี่น้องไปร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลศพนิยมเรียกกันว่า “ไปถามข่าว” โดยพาเกลือและข้าวสารไปช่วยงาน ในวันฌาปณกิจศพเจ้าภาพจะช่วยกันคาดไม้เป็นคานหามศพ ระหว่างเส้นทางหามศพไปป่าช้าจะมีพระขึ้นไปสวดคานหามด้วย ๔ รูป โดยมีวงกาหลอแห่นำขบวน บรรดาญาติพี่น้องเดินแห่ตามหลัง นิยมถือไม้ฟืน (ไม้พลา)ไปร่วมเผาศพด้วย ปริศนาธรรมเวลาแบกไม้ฟืนไปเผาศพต้องแบกเอาส่วนปลายไม้นำทางไป “การเกิดขึ้น คงอยู่ และดับไป เหมือนกับท่อนไม้ฟืนที่ไม่มีวันงอกและเจริญเติบโตขึ้นมาได้อีกหากเอาท่อนปลายฝังลงดิน”

เชิงกอน คือการจัดที่สำหรับเผาศพ นิยมนำท่อนไม้ฟืนจัดเรียงซ้อนกันขึ้นเป็นชั้นๆ ยกสูงขึ้นเหนือระดับพื้นดิน หากเจ้าภาพมีบริวารลูกหลานมากก็ทำเป็น “เสาร่มไฟ”คือทำเป็นซุ้มปะรำยกสูง เสาทำด้วยไม้หมาก หรือไม้โอนมีหลังคาผ้าขาว หากมีขนาดเล็กลงมาหน่อยทำด้วยไม้ไผ่เรียกว่า “สามสร้าง” การยกศพขึ้นไปวางบนเชิงกอนจะยกขึ้นทั้งโลงไม้ โดยหมอจะทำพิธีตามขั้นตอนทางไสยศาสตร์อย่างเคร่งครัด

หลังเผาเสร็จจะมีการเก็บกระดูกไปบังสุกุลและเก็บรักษาไว้ในสถูป(บัว)ที่ป่าช้าและที่วัดน้ำขาวใน(วัดตก) ส่วนเศษกระดูก ขี้ดิน ขี้เถ้าก็จะฝังไว้ที่ป่าช้า

ทุกปีตรงกับวันแรม ๕ ค่ำเดือน ๕ ชุมชนน้ำขาวและละแวกใกล้เคียงจะร่วมกันทำบุญเปลว เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว.

........................................................

การถวายทาน การให้ทานจะให้ผลน้อยหรือมากขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ ๓ ประการคือ

๑.สิ่งของที่จะให้ทานต้องบริสุทธิ์ คือต้องได้มาด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ของนี้ไม่จำเป็นจะต้องประณีต หรูหรา ราคาแพง ของเลวๆแทบไม่มีราคาเช่น “รำจี่”ของนางปุณณาก็ได้

๒. เจตนา คือ ความตั้งใจจะต้องบริสุทธิ์ ก่อนให้ กำลังให้ และหลังให้ จะต้องมีความเลื่อมใสไม่คิดเสียดายภายหลัง

๓. ผู้รับทานต้องบริสุทธิ์ คือ ผู้มีศีล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายเป็น”ปฎิคาหก” (ผู้รับ) ที่บริสุทธิ์ทานที่ให้จึงมีผลมาก ยิ่งพระอรหันต์ที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติแล้ว ผู้ถวายทานแก่ท่าน ย่อมได้ผลทันตาเห็น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น