วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2558

พระธาตุเจดีย์ควนธง



พระธาตุเจดีย์ควนธง

ประวัติความเป็นมา

ในรัชสมัยพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ราวปี พ.ศ. ๒๔๓๙ เจ้าพระยายมราช ( ปั้น สุขุม ) ข้าหลวงเมืองสงขลา มณฑลนครศรีธรรมราช ต้องการก่อสร้างเจดีย์บนภูเขา ซึ่งสามารถมองเห็นโดดเด่น เป็นสง่า เพื่อบรรจุพระบรมธาตุ ที่ได้รับมาจากลังกา จึงได้สั่งการให้ข้าราชบริพาร ออกทำการสำรวจ จนกระทั่งได้พบควนธง ในพื้นที่อำเภอจะนะ ซึ่งเป็นทำเลที่เหมาะมากที่สุด จึงได้ปักธงช้างเผือกและธงธรรมจักร ไว้เป็นหลักฐานสำคัญ

หนึ่งเดือนต่อมา นายคง ผู้นำชาวบ้านน้ำขาวพร้อมด้วยลูกบ้านได้ร่วมมือร่วมใจกันทำการก่อสร้างเจดีย์ แบบลังกา ทรงกลมฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดยาวด้านละ ๕ วา ตัวองค์เจดีย์ฐานทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง ๘ เมตร ( ๔ วา ) มีความสูงจากฐานถึงยอดเจดีย์ ๑๒ เมตร ( ๖ วา ) บรรจุพระบรมธาตุไว้ในส่วนกลางขององค์เจดีย์ โดยแบ่งพลพรรคออกเป็น ๔ กลุ่ม ดังนี้

· กลุ่มแรก อยู่พื้นราบใกล้คลองคู มีหน้าที่ทำอิฐ
· กลุ่มที่สอง เดินขึ้นลงทำหน้าที่รับส่งของ ระหว่างกลุ่มแรกกับกลุ่มที่สาม
· กลุ่มที่สาม เดินขึ้นลงทำหน้าที่รับส่งของ ระหว่างกลุ่มที่สองกับกลุ่มที่สี่
· กลุ่มที่สี่อยู่บนยอดควนธง มีหน้าที่อ่านแปลน และทำการก่อสร้างเจดีย์ควนธงจนแล้วเสร็จ ใช้เวลาในการก่อสร้าง ๒เดือนเศษ

ได้มีการจัดฉลองสมโภชน์เจดีย์ควนธง ๗ วัน ๗ คืน รับหนัง โนรา มา แสดง และมีการสวดชัยมงคลคาถา เพื่อเป็นศิริมงคลของเจดีย์ควบคู่กันไปด้วย ตรงกับกลางเดือนสามของปี



ต่อมาชาวบ้านน้ำขาว ได้พากันขึ้นไปกราบนมัสการเจดีย์ควนธง ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๕ พร้อมกับนิมนต์พระสงฆ์ เพื่อทำประทักษิณา และมีการเลี้ยงพระ ( ถวายพัตตาหารเพล ) เป็นประจำทุกปี.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น