วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2565

TimeLine Namkhaw#3 ชุมชนน้ำขาว รอยต่อยุคก่อนประวัติศาสตร์ สู่ยุคของการเริ่มต้น เปลี่ยนผ่าน และเปลี่ยนแปลง

ชุมชนน้ำขาว
ชุมชนน้ำขาว : รอยต่อยุคก่อนประวัติศาสตร์ สู่ยุคของการเริ่มต้น เปลี่ยนผ่าน และเปลี่ยนแปลง

"น้ำขาว" เป็นชุมชนหนึ่งในเขตอำเภอจะนะ สันนิษฐานว่าเป็นชุมชนโบราณ ปรากฎหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงถึงการมีอยู่ของชุมชน ตลอดถึงการติดต่อสื่อสารกับชุมชนโพ้นทะเลมาตลอด ๒๐๐๐ ปี มาแล้ว...นั่น คือ การค้นพบกลองมโหรทึก ซึ่งเป็นกลองชนิดหนึ่ง ทำจากโลหะผสม ระหว่างทองแดง ดีบุก ตะกั่ว เรียกว่า "สำริด"
"ชิ้นส่วนมโหรทึก" ที่ถูกค้นพบบริเวณคลองชลประทาน "นบต้นโก" รอยต่อบ้านนาหยามหมู่ที่ ๑๐ กับบ้านออกวัด หมู่ที่ ๓ จำนวน ๓ รายการ คือ ๑.ชิ้นส่วนหน้ากลอง ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ สงขลา ๒.ชิ้นส่วนหน้ากลอง ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ชุมชนน้ำขาว วัดน้ำขาวนอก ๓.ชิ้นส่วนตัวกลอง ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่สถาบันทักษิณคดีศึกษา
"ชิ้นส่วนมโหรทึก" ที่พบในชุมชนน้ำขาว เป็นรูปแบบดียวกับมโหรทึกในวัฒนธรรมดองซอน ในเวียดนาม ซึ่งถือเป็นรุ่นที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด ประมาณ ๒๐๐ ก่อนพุทธกาล- พุทธศตวรรษที่ ๕ ได้เผยแพร่ไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในเมียนมา ไทย ลาว มาเลเชีย ฯลฯ แสดงความสัมพันธ์ของกลุ่มชนในแง่การพัฒนาเทคโนโลยี การขยายอิทธิพลทางวัฒนธรรม การค้าทางทะเล และอาจจะเกี่ยวข้องกับการอพยพย้ายถิ่น ในประเทศไทยมีกาค้นพบกลองมโหรทึกทุกภูมิภาค คือ น่าน อุบลราชธานี นครพนม มุกดาหาร ตราด กาญจนบุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ และสงขลา

"กลองมโหรทึก" คือหลักฐานสำคัญที่บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ถิ่นอาศัยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาตร์ จากถ้ำ เพิงผา สู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำ ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตการทำมาหากินเป็นหลักแหล่งจากการหาของป่าล่าสัตว์มาสู่ชุมชนเกษตรกรรมอย่างสมบูรณ์แบบ....และที่สำค้ญ "กลองมโหรทึก" คือ สินค้านำเข้าในช่วงต้นพุทธกาล ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นของอารยธรรมการค้าของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์
เรื่องราวในตัวกลองมโหรทึก บอกอะไร ?....
ดวงอาทิตย์ หรือดวงดาว : ในยุคนั้นอาจจะเกี่ยวข้องกับพิธีการบูชาดวงอาทิตย์ ตามความเชื่อของชุมชนโบราณ ของจีน และเวียดนาม
นก : เป็นเครื่องหมายการส่งวิญญาณและอาจหมายถึงการเปลี่ยนฤดูกาล การขอฝน
กบ คางคก: คนสมัยก่อนเชื่อว่า กบเป็นสัตว์ของเทพเจ้า มีอำนาจเรียกน้ำฝนและความสมบูรณ์มาได้ วัว ควาย : สะท้อนให้รู้ว่า คนในสมัยนั้นรู้จักเลี้ยงสัตว์ เพื่อใช้แรงงานในการเกษตร บ้าน : ปรากฎลายบ้านชั้นเดียว ยกพื้นใต้ถุนสูง อาจเป็นบันทึกรูปแบบบ้านเรือนในยุคโลหะ

ข้อมูลจาก :
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงลา
: พิพิธภัณฑ์ชุมชนน้ำขาว (วัดน้ำขาวนอก)
: ผู้ค้นพบและเก็บหลักฐานเพื่อการศึกษาของชุมชน (พ.ศ.๒๕๒๑)
๑.อาจารย์ประเสริฐ สังข์วิสุทธิ์
๒.อาจารย์ไพศาล เทพศรี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น