วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ประวัติวัดน้ำขาวนอก



ประวัติวัดน้ำขาวนอก (วัดออก)

ตั้งอยู่เลขที่ ๑๓ หมู่ที่ ๓ (บ้านออกวัด) ต.น้ำขาว อ.จะนะ จ.สงขลา มีเนื้อที่ ๑๒ ไร่ เริ่มสร้างเป็นวัดเมื่อวันที่ ๔ เม.ย. ๒๔๓๐ ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นวัดที่สมบูรณ์ เมื่อวันที่ ๒๐ เม.ย.๒๔๓๙ ได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๙ พ.ย. ๒๕๔๐ ขนาดกว้าง ๒๓.๖๐ ม. ยาว ๔๕.๕๐ ม. ผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ ๗ เม.ย. ๒๕๔๕ โดยสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ จากวัดมกุฎกษัตริยารามเป็นประธานในการผูกพัทธสีมา สังกัดคณะสงฆ์นิกายธรรมยุต

เจ้าอาวาสปกครองวัดมีดังนี้
๑ พระครูพุธ
๒ ท่านอาจารย์อิน
๓ ท่านอาจารย์บุญทอง
๔ ท่านอาจารย์คง
๕ ท่านอาจารย์ทองแก้ว
๖ ท่านอาจารย์หนู
๗ พระครูเกษมวรคณี (บ่าว)
๘ ท่านอาจารย์เอื้อน จัตุตวโร
๙ พระครูสิริญาณวิมล (เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน)


วัดในอดีตเป็นทั้งศูนย์การเรียนรู้ของเยาวชน และเป็นแหล่งพบปะของผู้คนในชุมชน เป็นแหล่งรวมประเพณีวัฒนธรรมและคตินิยมความเชื่อ วัดกับชุมชน จึงกลายเป็นส่วนเดียวกันแยกกันไม่ออก มองภาพของชุมชนน้ำขาวในอดีตจึงเห็นภาพของบ้านกับวัดได้อย่างชัดเจน อดีตกำนันเจิน จันทร์เพชร บ้านเกาะแค หมู่ที่ ๑ ต.น้ำขาว เล่าว่า...ชุมชนน้ำขาวยุคก่อนที่จะมีโรงสีข้าว เคยมีประเพณีสำคัญประเพณีหนึ่ง คือ “ประเพณีพานมข้าว” สมัยนั้นคนน้ำขาวมีอาชีพหลัก คือ ทำนา ทุกปีหลังจากทำนาเสร็จแล้ว ก็จะนำข้าวเปลือกที่ยังเป็น “เลียงข้าว” มากน้อยตามศรัทธาและผลผลิตที่ได้ในแต่ละปี รวบรวมกันทั้งหมู่บ้าน แล้วช่วยกันนำไปเก็บไว้ในยุ้งข้าวที่วัด ก่อนนำไปเก็บก็จะทำพิธีทางศาสนาทำบุญ ถวายทาน เหมือนกับการนำข้าวตอก และต้ม ไปทำบุญเดือนสิบ .... วัดน้ำขาวนอก(วัดออก) ยุ้งข้าวตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับบริเวณทางด้านทิศใต้ที่เป็นเมรุในปัจจุบัน การพาข้าวไปถวายวัด เรียกว่า “การพานมข้าว” สอบถามได้ความว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเสบียงเก็บไว้ใช้ในยามที่วัดมีงานสำคัญ ๆ เช่น งานประเพณีทอดกฐิน ทอดผ้าป่า หรืองานอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมสำคัญของทั้งชุมชนและวัด ก่อนจะถึงงาน ชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านจะช่วยกันนวดข้าว สีข้าว ทิ่มข้าว เตรียมเป็นข้าวสารไว้ล่วงหน้า และที่สำคัญวัดก็ยังเป็นศูนย์กลางของการแลกเปลี่ยนสินค้าอุปโภคบริโภคจากภายนอกอีกด้วย เช่น มีชาวบ้านจากตำบลสะกอม ตำบลนาทับ นำเกลือ ปลาแห้ง กะปิ ปลาร้า มาทำการแลกเปลี่ยนกับข้าวเปลือกในยุ้งข้าวของวัด โดยมานวดเป็นข้าวเปลือกใส่กระสอบกลับไป นับเป็นความสัมพันธ์ที่ต่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกันมาเป็นเวลาช้านาน..

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น