วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2565

TimeLine Namkhaw#1 พิพิธภัณฑ์ชุมชนน้ำขาว

พิพิธภัณฑ์ชุมชนน้ำขาว
"น้ำขาว" เป็นชุมชนเล็กๆ ในอำเภอจะนะ จ.สงขลา มีประชากร ประมาณ.... คน จุดเด่นของชุมชนน้ำขาว คือความเป็น "เครือญาติ" ที่มีสายสัมพันธ์โยงใยมาแต่อดีตร่วมกัน แต่ละคนแต่ละครอบครัวต่างมีศักดิ์เป็นลุง ป้า น้า อา ปู่ ย่า ตา ยาย....โดยวิธีสืบรากเง่า ต้นกอ บอกเล่ากันมาปากต่อปาก...โดยกุศโลบายล้ำลึก ไม่ว่าจะ การลงตายาย หรือ ครูหมอโนรา หรือจากจารีตประเพณีตามคติความเชื่อทางศาสนา ...เช่น ทำบุญเดือนสิบ ทำบุญวันว่าง...ก็จะเห็นพิธีการหรือกิจกรรมสำคัญๆ ที่ยึดโยงอยู่กับเครือญาติอย่างแน่นแฟ้น...."บัวรวม" จึงเป็นจุดร่วมของลูกหลานชาวน้ำขาว ที่ต่างพากันไปจุดธูป-เทียนบูชา ทำบุญกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล เป็นประจำปีในคราวทำบุญวันว่าง ...ของทุกวัดในชุมชนน้ำขาว.

พิพิธภัณฑ์ชุมชนน้ำขาว จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่คอยเก็บเรื่องราวในอดีต เพื่อบอกต่อและเปลี่ยนผ่านเรื่องราวความหลังในอดีต สู่ลูกหลานรุ่นใหม่ของชุมชนเล็กๆ แห่งนี้ที่กำลังเผชิญกับโลกแข่งขันนิยมวัตถุยุคใหม่อย่างไร้ทิศทาง...เช่นเดียวกัน

วัตถุทุกชิ้นที่วางแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ชุมชนแห่งนี้ ได้รับมาจากเจ้าของและลูกหลานผู้สืบทอด ...แต่ละชิ้นได้ผ่าน งานและการทำหน้าที่ของมันมาอย่างยาวนานนับเป็นร้อยปี บางชิ้นเป็นศูนย์รวมของวิถีชุมชน ที่คนแต่ละช่วงของเวลาได้มีโอกาสร่วมสัมผัส ร่วมกันเป็นกิจวัตรสาธารณะ...เสมือนเป็นศูนย์รวมทางจิตวิญญาณของชุมชนก็ว่าได้....จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะได้ยิน ผู้ที่เข้ามาพบวัตถุที่โดนใจแล้ว รำพึงกับตนเองว่า..."ทำให้นึกถึงความหลัง นึกถึงคนหลายๆ คนที่จากไป"....วัตถุทุกชิ้นในพิพิธภัณฑ์ชุมชนแห่งนี้จึงเป็นร่องรอยของอดีตที่มี จิตวิญญาณ...มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ในมุมใดมุมหนึ่งของวิถีชุมชนแห่งนี้อยู่ด้วยเสมอ ไม่ว่าจะ ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่ง หรือในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง....เมื่อมันผ่านไปแล้ว จึงผ่านเลย......

สำหรับการจัดเก็บ การวางรูปแบบและนำเสนอ ได้จัดแบ่งหมวดหมู่เป็น ๗ กลุ่มสำคัญ คือ - กลุ่มเครื่องมือทำกิน - กลุ่มเครื่องใช้ในครัวเรือน - กลุ่มศิลปะและดนตรีพื้นบ้าน - กลุมเครื่องนุ่งห่ม/เครื่องประดับ - กลุ่มพระพุทธรูป เหรืยญ เครื่องเงิน - กลุ่มอาวุธ/เครื่องมือป้องกันตัว - กลุ่มเอกสาร ตำรา งานเขียน "น้ำขาวศึกษา"....สำหรับการจัดรูปแบบของการนำเสนอ นอกจากจะทำเป็นที่จัดเก็บที่มั่นคง ปลอดภัยแล้ว ยังจัดรูปแบบการนำเสนอในรูปนิทรรศการนอกสถานที่ในคราวมีงานสำคัญและการจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนที่มีชีวิต ที่เข้าถึงทุกคน ทุกที่ ในรูปแบบของสื่อเทคโนโลยี่สมัยใหม่....

ในส่วนสาระการนำเสนอเรื่องราวของการแสดงวัตถุสำคัญของพิพิธภัณฑ์ชุมชนน้ำขาว จะแบ่งเป็น ๓ ช่วงเวลาศึกษา คือ ช่วงเวลายุคก่อนประวัติศาสตร์ (ยุคสำริด) ยุคก่อนสงครามโลก (ยุค ๒๔๐๐- ๒๔๘๐) และยุคหลังสงครามโลก

ทุกๆ ห้วงของเวลากับอดีตที่ไม่มีมีวันหวนกลับ ของคนน้ำขาว...เรื่องราวดีๆ ที่เคยจดจำ จะยังคงเหลือไว้ให้คงอยู่กับพิพิธภัณฑ์ชุมชนที่รอวันส่งผ่านเรื่องราวสู่คนรุ่นใหม่ ต่อไป...และอีกต่อๆ ไป....อย่างไม่มีวันจบ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น