วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2565

TimeLine Namkhaw#4 ชุมชนน้ำขาว รอยต่อยุคก่อนประวัติศาสตร์ สู่ยุคของการเริ่มต้น เปลี่ยนผ่าน และเปลี่ยนแปลง

ชุมชนน้ำขาว ชุมชนน้ำขาว : รอยต่อยุคก่อนประวัติศาสตร์ สู่ยุคของการเริ่มต้น เปลี่ยนผ่าน และเปลี่ยนแปลง " อำเภอจะนะ ระหว่าง ปี พ.ศ.๒๓๓๓ - ๒๔๑๑ "เมืองจะนะ เมืองเทพา อยู่ตรงรอยต่อของศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองและวัฒนธรรมภาคใต้ โดยเฉพาะ นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ที่มีความเคร่งครัด ยึดมั่นด้านขนบธรรมเนียมประเพณีด้านพุทธศานา อีกด้านหนึ่งคือ ปัตตานีที่เป็นศูนย์กลางของการเผยแพร่ทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาอิสลามและประเพณีพื้นบ้านของชาวมาลายู ย่อมได้รับผลกระทบ เป็นเขตสู้รบและเป็นเมืองขึ้นที่ต้องถูกเกณฑ์ผู้คนไปร่วมรบในยามสงคราม ในยามสงบต้องส่งส่วย..." ปัจจุบันมีหลักฐานเป็นคู ค่ายที่ขุดเป็นที่กำบัง ใช้ในยามสู้รบ ปรากฎอยู่ในชุมชนน้ำขาว บ้านคูตีน หมู่ที่ ๒ ด้วย. ชุมชนน้ำขาว: กับก้าวย่าง สู่ยุคของการเริ่มต้นตรงรอยต่อของ "เมืองจะนะ" บันทึกข้อเขียน :ประวัติวัดน้ำขาวใน ของหลวงปู่พรหมวุฒาจารย์ " วัดน้ำขาวใน เป็นวัด มาแต่สมัยโบราณ ตั้งอยู่ใน "ย่านชุมชนที่ไม่สู้จะหนาแน่นนัก" คือตั้งอยู่ทางทิศเหนือของลำน้ำสายคลองคู ในหมู่ที่ ๖ ตำบลน้ำขาว อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา แต่น่าเสียดายที่ทราบไม่ได้ว่า วัดนี้ใครเป็นผู้ริเริ่มสร้างมาก่อน และสร้างแต่เมือใด พ.ศ.ไหน ? ไม่มีบุคคลใดเล่ากันได้ เพียงแต่สันนิษฐานกันว่า สร้างขึ้นในราว ๆ พ.ศ.๒๓๕๗ คือสมัยรัชกาล ที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งคิดเวลาที่ล่วงแล้วได้ ๒๐๐ ปี ........ ก่อน ๆ หาความเจริญเรียบร้อยมิค่อยได้เพราะเป็นวัดป่าวัดดง ย่อมขาดแคลนหลายสิ่งหลายประการ เป็นต้นว่า ทางคมนาคมไม่สะดวก ประชาชนก็มีน้อย การจัดสร้างเสนาสนะก็จัดทำกันแบบชั่วคราว หลังคาก็มุงด้วยจากสิเหรงเพียง ๓-๔ ปี ก็ชำรุดทรุดโทรมไป นี่เป็นสมัยของเจ้าอาวาสรูปที่ ๑ - ๓ ซึ่งทราบชื่อมิได้ แต่เขาก็ได้ช่วยกันบำรุงรักษามาตามยุคตามสมัย ตามกำลังศรัทธาของประชาชนในสมัยนั้น ๆ ให้เจริญขึ้นคราวละเล็กคราวละน้อยเรื่อย ๆ มาเป็นลำดับ..." ประเด็นศึกษา : ๑.ชุมชนน้ำขาว เกิดขึ้นเมื่อใด เมื่อเทียบเคียงกับประวัติวัดน้ำขาวใน ๒.สภาพความเป็นอยู่ ในทุกมิติด้านสังคม ครอบครัว อาชีพ ประเพณีนิยม รวมถึงคติความเชื่อด้านศาสนา บันทึกเพิ่มเติมของหลวงปู่พรหมวุฒาจารย์ เกี่ยวกับวัดน้ำขาวในและการสร้างเจดีย์ควนธง ครั้นมาถึงสมัยเจ้าอาวาสองค์ที่ ๔ คือ ท่านอาจารย์แก้ว ได้จัดสร้างโรงอุโบสถหลังแรกขึ้น ยาว ๑๒ เมตร กว้าง ๙ เมตร หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา นี่นับเป็นครั้งแรกที่กระเบื้องดินเผาได้เข้ามาในวัดนี้ ราวปี พ.ศ.๒๔๓๑ ท่านองค์นี้มีความสำคัญมาก คือ ท่านได้ขยายเขตวัดมาทางทิศเหนือ เพราะเห็นว่าบริเวณที่เดิมเป็นที่ไม่เหมาะสม เพราะอยู่ชิดติดกับคลอง น้ำมักท่วมและกระแสน้ำเซาะตลิ่ง ทำให้สื่งก่อสร้างเกิดเสียหายแล้วท่านจัดวางแผนผังของวัดเสียใหม่ โดยขุดคูรอบ ๆ บริเวณ ปรากฏว่าท่านองค์นี้ได้เป็นกำลังสำคัญในการก่อสร้าง "เจดีย์ภูเขาธง" โดยร่วมมือกับท่านอุปัชฌาย์พุธ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดน้ำขาวนอก และในสมัยเจ้าอาวาสองค์นี้เองราวปี พ.ศ.๒๔๓๒ ท่านได้แปลงจากคณะมหานิกายมาเป็นคณะธรรมยุตกนิกายตั้งแต่นั้นมา ต่อมาราว พ.ศ.๒๔๓๖ ท่านก็ถึงแก่มรณะภาพด้วยโรคชรา ส่วนอัฐิของท่านได้ใส่ขวดแก้ว นำไปฝังไว้ที่โคนต้นไทรใหญ่ แล้วเอาไม้ทำเป็นรูปดอกบัวปักไว้ตรงนั้น นิยมกันว่าศักดิ์สิทธิ์นัก เดี๋ยวนี้ชาวบ้านใช้เรียกชื่อที่ตรงนั้นว่า “พ่อท่านหัวสะพาน” ประเด็นศึกษา : ๑. ชุมชนน้ำขาว กับการเปิดรับข้อมูลข่าวสาร รับรู้การเปลี่ยนแปลง นำนวัตกรรมใหม่ๆ เช่นกระเบื้องเข้ามา สร้างสิ่งปลูกสร้างที่มั่นคง ถาวร เช่น อุโบสถ เจดีย์ควนธง ซึ่งเป็นเหมือนศูนย์รวมทางจิตวิญญาณของคนในชุมชนและที่สำคัญ คือการเปิดรับการเปลี่ยนนิกายทางศาสนา เป็น "ธรรมยุติกนิกาย"... ๒. อัฐิของท่านอาจารย์แก้ว ทำไมถึงไม่นำไปใส่ไว้ในสถูป ?... เอกสารอ้างอิง : ๑. หนังสือที่ระลึกในโอกาสบำเพ็ญกุศลตามคติไทย แด่ คุณแม่บุญ ทองแจ่ม เรื่อง "ชุมชนสะพานไม้แก่น" โดย รศ.ประสิทธิ์ ทองแจ่ม ๒. ประวัติ "วัดน้ำขาวใน" โดย หลวงปู่พรหมวุฒาจารย์ อดีตเจ้าอาวาส (พ.ศ.๒๕๐๕)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น