วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ประวัติวัดน้ำขาวใน



ประวัติวัดน้ำขาวใน (วัดตก)

วัดน้ำขาวใน เป็นวัดโบราณ อยู่ทางทิศเหนือของคลองคู ตั้งอยู่ ม.๖ ต.น้ำขาว อ.จะนะ จ.สงขลา สันนิษฐานสร้างขึ้นประมาณปีพ.ศ. ๒๓๕๗ สมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

- เจ้าอาวาสรูปที่ ๑-๓ ไม่ปรากฏชื่อ มีการจัดสร้างเสนาสนะส่วนใหญ่ทำแบบชั่วคราว

- เจ้าอาวาสรูปที่ ๔ (ถึง พ.ศ.๒๔๓๖) ชื่ออาจารย์ทองแก้ว สร้างอุโบสถหลังแรกมุงด้วยกระเบื้องดินเผา เป็นกำลังสำคัญในการก่อสร้างเจดีย์ควนธง และได้เปลี่ยนแปลงคณะปกครองสงฆ์จากคณะมหานิกายมาเป็นคณะธรรมยุตินิกาย

- เจ้าอาวาสรูปที่ ๕ (พ.ศ.๒๔๓๖-๒๔๕๑) ชื่ออาจารย์จันทร์ ท่านมีความขยันขันแข็งมากได้สร้าง ศาลาโรงธรรม กุฏิสองชั้น และโรงฉัน

- เจ้าอาวาสรูปที่ ๖ (พ.ศ.๒๔๕๑-๒๔๕๙) ชื่ออาจารย์อ่ำ ผลงานของท่าน คือ สร้างกุฏิขึ้น ๑ หลัง รื้ออุโบสถหลังเก่าสร้างหลังใหม่ทดแทนโดยมีความมั่นคงกว่าของเก่า ยังมีอยู่ทุกวันนี้

- เจ้าอาวาสรูปที่ ๗ (พ.ศ.๒๔๕๙-๒๔๖๙) ชื่ออาจารย์แก้ว

- เจ้าอาวาสรูปที่ ๘ (พ.ศ.๒๔๖๙-๒๕๑๓) ชื่อพระครูพรมวุฒาจารย์ ผลงานของท่านมีมากมาย เช่น รื้อกุฏิหลังเก่าและโรงธรรมที่สร้างสมัยเจ้าอาวาสรูปที่ ๕ แล้วสร้างใหม่ สร้างกุฎิ ๒ หลัง และสร้างอุโบสถหลังใหม่ที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๕๘)

- เจ้าอาวาสรูปที่ ๙ (พ.ศ.๒๕๑๓-๒๕๓๔) พระครูสุวัฒน์ศีลคุณ (พุ่ม สุวฑฺฒโน) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดน้ำขาวใน รวมระยะเวลา ๒๑ ปี

- เจ้าอาวาสรูปที่ ๑๐ (พ.ศ.๒๕๓๔-๒๕๕๗) พระครูโชติธรรมวัตร (แสง โชติธฺมฺโม)ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดน้ำขาวใน รวมระยะเวลา ๒๓ ปี

- เจ้าอาวาสรูปที่ ๑๑ พระครูพิพัฒน์สังฆกิจ (วิชัย อภิวิชโย) ดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่พ.ศ.๒๕๕๗-ปัจจุบัน

วัดในอดีตเป็นทั้งศูนย์การเรียนรู้ของเยาวชน และเป็นแหล่งพบปะของผู้คนในชุมชน เป็นแหล่งรวมประเพณีวัฒนธรรมและคตินิยมความเชื่อ วัดกับชุมชน จึงกลายเป็นส่วนเดียวกันแยกกันไม่ออก มองภาพของชุมชนน้ำขาวในอดีตจึงเห็นภาพของบ้านกับวัดได้อย่างชัดเจน อดีตกำนันเจิน จันทร์เพชร บ้านเกาะแค หมู่ที่ ๑ ต.น้ำขาว เล่าว่า...ชุมชนน้ำขาวยุคก่อนที่จะมีโรงสีข้าว เคยมีประเพณีสำคัญประเพณีหนึ่ง คือ “ประเพณีพานมข้าว” สมัยนั้นคนน้ำขาวมีอาชีพหลัก คือ ทำนา ทุกปีหลังจากทำนาเสร็จแล้ว ก็จะนำข้าวเปลือกที่ยังเป็น “เลียงข้าว” มากน้อยตามศรัทธาและผลผลิตที่ได้ในแต่ละปี รวบรวมกันทั้งหมู่บ้าน แล้วช่วยกันนำไปเก็บไว้ในยุ้งข้าวที่วัด ก่อนนำไปเก็บก็จะทำพิธีทางศาสนาทำบุญ ถวายทาน เหมือนกับการนำข้าวตอก และต้ม ไปทำบุญเดือนสิบ วัดน้ำขาวใน(วัดตก) ยุ้งข้าวตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับบริเวณทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอุโบสถในปัจจุบัน การพาข้าวไปถวายวัด เรียกว่า “การพานมข้าว” สอบถามได้ความว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเสบียงเก็บไว้ใช้ในยามที่วัดมีงานสำคัญ ๆ เช่น งานประเพณี ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า หรืองานอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมสำคัญของทั้งชุมชนและวัด ก่อนจะถึงงาน ชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านจะช่วยกันนวดข้าว สีข้าว ทิ่มข้าว เตรียมเป็นข้าวสารไว้ล่วงหน้า และที่สำคัญวัดก็ยังเป็นศูนย์กลางของการแลกเปลี่ยนสินค้าอุปโภคบริโภคจากภายนอกอีกด้วย เช่น มีชาวบ้านจากตำบลสะกอม ตำบลนาทับ นำเกลือ ปลาแห้ง กะปิ ปลาร้า มาทำการแลกเปลี่ยนกับข้าวเปลือกในยุ้งข้าวของวัด โดยมานวดเป็นข้าวเปลือกใส่กระสอบกลับไป นับเป็นความสัมพันธ์ที่ต่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกันมาเป็นเวลาช้านาน..

2 ความคิดเห็น:

  1. ขอทราบประวัติบ้านคูตีน ครับ

    ตอบลบ
  2. จากการสอบถามมีคูที่ใช้ทดน้ำเข้านา โดยน้ำมาจากคลองคู เลียบริมบ้านเพื่อใช้น้ำจากคูนำไปใช้ทางการเกษตรเพื่อไปทำนา เดิมเป็นคูค่ายสมัยญี่ปุ่นขึ้นที่สงขลาเพื่อไปยึดพม่าซึ่งเป็นนิคมของอังกฤษ มีร่องรอยเหลืออยู่บ้างส่วนทิศเหนือหมู่บ้าน ปู ยา ตา ยาย ซึ่งเคยเล่าให้ฟัง เลยเรียกบ้านคู เนื่องจากอยู่ทางทิศเหนือภาษาถิ่นเลยเรียกว่า บ้านคูตีน หรือคนเฒ่าสมัยก่อนเรียกว่าบ้านคูค่าย

    ตอบลบ