วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2565

TimeLine Namkhaw#5 ชุมชนน้ำขาว การเปลี่ยนผ่านบนรอยต่อของเมืองจะนะ เมืองพหุวัฒนธรรมและเมืองหน้าด่าน

เรื่อง: น้ำขาว 5 ชุมชนน้ำขาว : การเปลี่ยนผ่านบนรอยต่อของเมืองจะนะ เมืองพหุวัฒนธรรมและเมืองหน้าด่าน สมัยพระมหานุภาพปราบสงคราม(ปลอด ถิ่นจะนะ) พ.ศ.๒๔๑๑-๒๔๔๑ ".....พระมหานุภาพปราบสงคราม(ปลอด) ได้สร้างความเจริญแก่เมืองจะนะเป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือก ขั้นที่ ๔ ...และทรงมีพระบรมราโชบายปรับปรุงกิจการบ้านเมือง ให้เข้ากับการปฏิรูปเป็นมณฑลเทศาภิบาล ปี พ.ศ.๒๔๓๙... สำหรับเมืองสงขลา ประกอบด้วย ... อำเภอเมืองสงขลา ตั้งที่ว่าการเมืองสงขลา อำเภอปละท่า ตั้งที่ว่าการบ้านจะทิ้งพระ อำเภอจะนะ ตั้งที่ว่าการบ้านนาทวี อำเภอเทพา ............ ในปี พ.ศ.๒๔๔๓ ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอจากบ้านนาทวีไปอยู่ที่ตำบลบ้านนา ประเด็นศึกษา: ๑.ในสมัยพระมหานุภาพปราบสงคราม (ปลอด ถิ่นจะนะ) ชุมชนน้ำขาวได้เกิดการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ๒.อะไรคือสาเหตุสำคัญที่เป็นแรงผลักดันให้ชุมชนน้ำขาวร่วมกันสร้างเจดีย์ควนธง และพร้อมใจกันเปลี่ยนคณะนิกายทางศาสนา ในสมัยนี้... ชุมชนน้ำขาว: กับการเปลี่ยนผ่านด้านการศึกษา # ๔ โรงเรียนแรกในจังหวัดสงขลา# มหาวชิราวุธวิทยา กุมมาพิสมัย หฤทัยวิทยา เทวภักดีพูนเฉลิม. "โรงเรียนหฤทัยวิทยา" คือโรงเรียน ๑ ใน ๔ มุมเมืองของสงขลา ตั้งอยู่ที่วัดน้ำขาว อำเภอจะนะ....รายงานการตรวจการศึกษา ของ พระศิริธรรมมุนี ผอ.การศึกษานครศรีธรรมราช(กองจดหมายเหตุแห่งชาติ ร.ศ.๑๑๙) กล่าวไว้..."ตำบลนี้มีพระสงฆ์เป็นธรรมยุติกนิกาย ๕ วัด วัดน้ำขาวนอก ๑ วัดน้ำขาวใน ๑ วัดนาหมอสีนอก ๑ วัดนาหมอสีใน ๑ วัดควนสมิต ๑ ...."หลวงต่างใจ" มีความยินดีจะให้ตั้งโรงเรียนขึ้นในตำบลนั้น รับเป็นผู้อุดหนุนจนเต็มกำลัง แต่ในตำบลนี้จะหาสถานที่ควรตั้งโรงเรียนได้ไม่ค่อยมี พระในวัดนั้นๆ ความรู้ไม่พอ ราษฎรในตำบลนี้ไม่สู้จะชอบในการศึกษามากนัก มักเป็นแขกมาลายูเสียโดยมาก แต่ "หลวงต่างใจ" อยากจะให้มีโรงเรียนขึ้นให้จงได้ แต่อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอสักหน่อย ถึงกระนั้น "หลวงต่างใจ" จะรับมาตรวจตราดูแลการขัดข้องอยู่เนืองๆ ได้ ในวัดน้ำขาว พระอ่ำ (ต่อมาคือ เจ้าอาวาสองค์ที่ ๖ ) เป็นคนฉลาด พอจะศึกษาให้เป็นครูได้ ตกลงว่าจะได้ตั้งโรงเรียนที่วัดน้ำขาวตำบล ๑ (ชื่อว่า หฤทัยวิทยา) โรงเรียนตำบลนี้เห็นจะเจริญช้าแต่ว่า หลวงต่างใจ คนนี้เป็นคนฉลาด ปฏิบัติราชการในหน้าที่ของตนเรียบร้อย เป็นที่สรรเสริญของราษฎรมาก ดูอัธยาศัยเป็นสัปปบุรุษอยู่ด้วย ถ้าเธอนั้นอุดหนุนแข็งแรงแล้วบางทีจะเจริญได้. ประเด็นศึกษา: ๑. "หลวงต่างใจ" คือใคร? ...มีบทบาท ภารกิจ ความรับผิดชอบ อย่างไร. ๒. "พระอ่ำ" คือใคร มีประวัติและบทบาททางการศึกษา อย่างไร ชุมชนน้ำขาว: กับการเปลี่ยนผ่าน...ก้าวเข้าสู่ยุคทองของการศึกษา ( พ.ศ.๒๔๔๒ - พ.ศ.๒๕๐๐ ) #ปฏิรูปคตินิยมและความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ปรับปรุงและปลูกสร้างศาสนาสถาน ให้มั่นคงถาวรทันสมัย วางรากฐานทางการศึกษาก้าวทันโลกยุคใหม่# บ้าน วัด โรงเรียน คือ ศูนย์รวมจิตใจและเสาหลักของการวางรากฐานการพัฒนาด้านการศึกษาของชุมชน มีผู้รู้กล่าวไว้ "โบสถ์ไม้ มีน้อยวัดมาก วัดที่มีโบสถ์ไม้ส่วนใหญ่สมัยก่อนจะเป็น โรงเรียน.." พ.ศ.๒๔๗๒ - ๒๔๗๘ วัดน้ำขาวนอก ร่วมกันสร้างโบสถ์ไม้ โดยชาวบ้านแบ่งหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันเข้าไปตัดไม้แล้วล่องลงมาตามสายน้ำคลองคู โดยนายช่าง คงทอง เป็นนายช่างผู้ควบคุมการก่อสร้าง พ.ศ.๒๔๗๕ - ๒๔๘๕ มีโรงเรียนประชาบาล เปิดสอนระดับ ป.๑ - ๔ และต่อมาได้เปิดโรงเรียนเอกชนขึ้น ชื่อ โรงเรียนวรรณศิลป์ เปิดสอนต่อระดับ ม.๑-๓ (ป.๕ - ๗) ครูใหญ่ชื่อ ครูแซม....ครูผู้สอน คือ ครูเจริญ (เฉี้ยง) ไชยสุวรรณ ศิษย์เก่ารุ่นที่เรียนจบ ม.๓ คือ พระครูโชติธรรมวัฒน์ (ท่านแสง) นายเลี่ยม โอแก้ว และอดีตกำนันเจิน จันทร์เพชร พ.ศ.๒๔๘๒ วัดน้ำขาวใน สร้างศาลาโรงธรรมประกอบกิจกรรมทางศาสนาและใช้แทนห้องเรียนชั่วคราว โรงเรียนมีชั้นเรียนไม่เพียงพอ เมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์จัดงานฉลอง รับมหรสพ พิมหนังสือแจกจ่าย เป็นอนุสติชื่อ "สังขารธรรมคำกลอน" แก่ผู้มาเที่ยวงาน โดยกวีชุมชน นามปากกา "ลูกในถิ่น" นับเป็นจุดเริ่มต้นของการคิดทำวารสาร สิ่งพิมพ์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ในชุมชน...

TimeLine Namkhaw#4 ชุมชนน้ำขาว รอยต่อยุคก่อนประวัติศาสตร์ สู่ยุคของการเริ่มต้น เปลี่ยนผ่าน และเปลี่ยนแปลง

ชุมชนน้ำขาว ชุมชนน้ำขาว : รอยต่อยุคก่อนประวัติศาสตร์ สู่ยุคของการเริ่มต้น เปลี่ยนผ่าน และเปลี่ยนแปลง " อำเภอจะนะ ระหว่าง ปี พ.ศ.๒๓๓๓ - ๒๔๑๑ "เมืองจะนะ เมืองเทพา อยู่ตรงรอยต่อของศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองและวัฒนธรรมภาคใต้ โดยเฉพาะ นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ที่มีความเคร่งครัด ยึดมั่นด้านขนบธรรมเนียมประเพณีด้านพุทธศานา อีกด้านหนึ่งคือ ปัตตานีที่เป็นศูนย์กลางของการเผยแพร่ทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาอิสลามและประเพณีพื้นบ้านของชาวมาลายู ย่อมได้รับผลกระทบ เป็นเขตสู้รบและเป็นเมืองขึ้นที่ต้องถูกเกณฑ์ผู้คนไปร่วมรบในยามสงคราม ในยามสงบต้องส่งส่วย..." ปัจจุบันมีหลักฐานเป็นคู ค่ายที่ขุดเป็นที่กำบัง ใช้ในยามสู้รบ ปรากฎอยู่ในชุมชนน้ำขาว บ้านคูตีน หมู่ที่ ๒ ด้วย. ชุมชนน้ำขาว: กับก้าวย่าง สู่ยุคของการเริ่มต้นตรงรอยต่อของ "เมืองจะนะ" บันทึกข้อเขียน :ประวัติวัดน้ำขาวใน ของหลวงปู่พรหมวุฒาจารย์ " วัดน้ำขาวใน เป็นวัด มาแต่สมัยโบราณ ตั้งอยู่ใน "ย่านชุมชนที่ไม่สู้จะหนาแน่นนัก" คือตั้งอยู่ทางทิศเหนือของลำน้ำสายคลองคู ในหมู่ที่ ๖ ตำบลน้ำขาว อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา แต่น่าเสียดายที่ทราบไม่ได้ว่า วัดนี้ใครเป็นผู้ริเริ่มสร้างมาก่อน และสร้างแต่เมือใด พ.ศ.ไหน ? ไม่มีบุคคลใดเล่ากันได้ เพียงแต่สันนิษฐานกันว่า สร้างขึ้นในราว ๆ พ.ศ.๒๓๕๗ คือสมัยรัชกาล ที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งคิดเวลาที่ล่วงแล้วได้ ๒๐๐ ปี ........ ก่อน ๆ หาความเจริญเรียบร้อยมิค่อยได้เพราะเป็นวัดป่าวัดดง ย่อมขาดแคลนหลายสิ่งหลายประการ เป็นต้นว่า ทางคมนาคมไม่สะดวก ประชาชนก็มีน้อย การจัดสร้างเสนาสนะก็จัดทำกันแบบชั่วคราว หลังคาก็มุงด้วยจากสิเหรงเพียง ๓-๔ ปี ก็ชำรุดทรุดโทรมไป นี่เป็นสมัยของเจ้าอาวาสรูปที่ ๑ - ๓ ซึ่งทราบชื่อมิได้ แต่เขาก็ได้ช่วยกันบำรุงรักษามาตามยุคตามสมัย ตามกำลังศรัทธาของประชาชนในสมัยนั้น ๆ ให้เจริญขึ้นคราวละเล็กคราวละน้อยเรื่อย ๆ มาเป็นลำดับ..." ประเด็นศึกษา : ๑.ชุมชนน้ำขาว เกิดขึ้นเมื่อใด เมื่อเทียบเคียงกับประวัติวัดน้ำขาวใน ๒.สภาพความเป็นอยู่ ในทุกมิติด้านสังคม ครอบครัว อาชีพ ประเพณีนิยม รวมถึงคติความเชื่อด้านศาสนา บันทึกเพิ่มเติมของหลวงปู่พรหมวุฒาจารย์ เกี่ยวกับวัดน้ำขาวในและการสร้างเจดีย์ควนธง ครั้นมาถึงสมัยเจ้าอาวาสองค์ที่ ๔ คือ ท่านอาจารย์แก้ว ได้จัดสร้างโรงอุโบสถหลังแรกขึ้น ยาว ๑๒ เมตร กว้าง ๙ เมตร หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา นี่นับเป็นครั้งแรกที่กระเบื้องดินเผาได้เข้ามาในวัดนี้ ราวปี พ.ศ.๒๔๓๑ ท่านองค์นี้มีความสำคัญมาก คือ ท่านได้ขยายเขตวัดมาทางทิศเหนือ เพราะเห็นว่าบริเวณที่เดิมเป็นที่ไม่เหมาะสม เพราะอยู่ชิดติดกับคลอง น้ำมักท่วมและกระแสน้ำเซาะตลิ่ง ทำให้สื่งก่อสร้างเกิดเสียหายแล้วท่านจัดวางแผนผังของวัดเสียใหม่ โดยขุดคูรอบ ๆ บริเวณ ปรากฏว่าท่านองค์นี้ได้เป็นกำลังสำคัญในการก่อสร้าง "เจดีย์ภูเขาธง" โดยร่วมมือกับท่านอุปัชฌาย์พุธ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดน้ำขาวนอก และในสมัยเจ้าอาวาสองค์นี้เองราวปี พ.ศ.๒๔๓๒ ท่านได้แปลงจากคณะมหานิกายมาเป็นคณะธรรมยุตกนิกายตั้งแต่นั้นมา ต่อมาราว พ.ศ.๒๔๓๖ ท่านก็ถึงแก่มรณะภาพด้วยโรคชรา ส่วนอัฐิของท่านได้ใส่ขวดแก้ว นำไปฝังไว้ที่โคนต้นไทรใหญ่ แล้วเอาไม้ทำเป็นรูปดอกบัวปักไว้ตรงนั้น นิยมกันว่าศักดิ์สิทธิ์นัก เดี๋ยวนี้ชาวบ้านใช้เรียกชื่อที่ตรงนั้นว่า “พ่อท่านหัวสะพาน” ประเด็นศึกษา : ๑. ชุมชนน้ำขาว กับการเปิดรับข้อมูลข่าวสาร รับรู้การเปลี่ยนแปลง นำนวัตกรรมใหม่ๆ เช่นกระเบื้องเข้ามา สร้างสิ่งปลูกสร้างที่มั่นคง ถาวร เช่น อุโบสถ เจดีย์ควนธง ซึ่งเป็นเหมือนศูนย์รวมทางจิตวิญญาณของคนในชุมชนและที่สำคัญ คือการเปิดรับการเปลี่ยนนิกายทางศาสนา เป็น "ธรรมยุติกนิกาย"... ๒. อัฐิของท่านอาจารย์แก้ว ทำไมถึงไม่นำไปใส่ไว้ในสถูป ?... เอกสารอ้างอิง : ๑. หนังสือที่ระลึกในโอกาสบำเพ็ญกุศลตามคติไทย แด่ คุณแม่บุญ ทองแจ่ม เรื่อง "ชุมชนสะพานไม้แก่น" โดย รศ.ประสิทธิ์ ทองแจ่ม ๒. ประวัติ "วัดน้ำขาวใน" โดย หลวงปู่พรหมวุฒาจารย์ อดีตเจ้าอาวาส (พ.ศ.๒๕๐๕)

TimeLine Namkhaw#3 ชุมชนน้ำขาว รอยต่อยุคก่อนประวัติศาสตร์ สู่ยุคของการเริ่มต้น เปลี่ยนผ่าน และเปลี่ยนแปลง

ชุมชนน้ำขาว
ชุมชนน้ำขาว : รอยต่อยุคก่อนประวัติศาสตร์ สู่ยุคของการเริ่มต้น เปลี่ยนผ่าน และเปลี่ยนแปลง

"น้ำขาว" เป็นชุมชนหนึ่งในเขตอำเภอจะนะ สันนิษฐานว่าเป็นชุมชนโบราณ ปรากฎหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงถึงการมีอยู่ของชุมชน ตลอดถึงการติดต่อสื่อสารกับชุมชนโพ้นทะเลมาตลอด ๒๐๐๐ ปี มาแล้ว...นั่น คือ การค้นพบกลองมโหรทึก ซึ่งเป็นกลองชนิดหนึ่ง ทำจากโลหะผสม ระหว่างทองแดง ดีบุก ตะกั่ว เรียกว่า "สำริด"
"ชิ้นส่วนมโหรทึก" ที่ถูกค้นพบบริเวณคลองชลประทาน "นบต้นโก" รอยต่อบ้านนาหยามหมู่ที่ ๑๐ กับบ้านออกวัด หมู่ที่ ๓ จำนวน ๓ รายการ คือ ๑.ชิ้นส่วนหน้ากลอง ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ สงขลา ๒.ชิ้นส่วนหน้ากลอง ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ชุมชนน้ำขาว วัดน้ำขาวนอก ๓.ชิ้นส่วนตัวกลอง ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่สถาบันทักษิณคดีศึกษา
"ชิ้นส่วนมโหรทึก" ที่พบในชุมชนน้ำขาว เป็นรูปแบบดียวกับมโหรทึกในวัฒนธรรมดองซอน ในเวียดนาม ซึ่งถือเป็นรุ่นที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด ประมาณ ๒๐๐ ก่อนพุทธกาล- พุทธศตวรรษที่ ๕ ได้เผยแพร่ไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในเมียนมา ไทย ลาว มาเลเชีย ฯลฯ แสดงความสัมพันธ์ของกลุ่มชนในแง่การพัฒนาเทคโนโลยี การขยายอิทธิพลทางวัฒนธรรม การค้าทางทะเล และอาจจะเกี่ยวข้องกับการอพยพย้ายถิ่น ในประเทศไทยมีกาค้นพบกลองมโหรทึกทุกภูมิภาค คือ น่าน อุบลราชธานี นครพนม มุกดาหาร ตราด กาญจนบุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ และสงขลา

"กลองมโหรทึก" คือหลักฐานสำคัญที่บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ถิ่นอาศัยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาตร์ จากถ้ำ เพิงผา สู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำ ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตการทำมาหากินเป็นหลักแหล่งจากการหาของป่าล่าสัตว์มาสู่ชุมชนเกษตรกรรมอย่างสมบูรณ์แบบ....และที่สำค้ญ "กลองมโหรทึก" คือ สินค้านำเข้าในช่วงต้นพุทธกาล ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นของอารยธรรมการค้าของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์
เรื่องราวในตัวกลองมโหรทึก บอกอะไร ?....
ดวงอาทิตย์ หรือดวงดาว : ในยุคนั้นอาจจะเกี่ยวข้องกับพิธีการบูชาดวงอาทิตย์ ตามความเชื่อของชุมชนโบราณ ของจีน และเวียดนาม
นก : เป็นเครื่องหมายการส่งวิญญาณและอาจหมายถึงการเปลี่ยนฤดูกาล การขอฝน
กบ คางคก: คนสมัยก่อนเชื่อว่า กบเป็นสัตว์ของเทพเจ้า มีอำนาจเรียกน้ำฝนและความสมบูรณ์มาได้ วัว ควาย : สะท้อนให้รู้ว่า คนในสมัยนั้นรู้จักเลี้ยงสัตว์ เพื่อใช้แรงงานในการเกษตร บ้าน : ปรากฎลายบ้านชั้นเดียว ยกพื้นใต้ถุนสูง อาจเป็นบันทึกรูปแบบบ้านเรือนในยุคโลหะ

ข้อมูลจาก :
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงลา
: พิพิธภัณฑ์ชุมชนน้ำขาว (วัดน้ำขาวนอก)
: ผู้ค้นพบและเก็บหลักฐานเพื่อการศึกษาของชุมชน (พ.ศ.๒๕๒๑)
๑.อาจารย์ประเสริฐ สังข์วิสุทธิ์
๒.อาจารย์ไพศาล เทพศรี

TimeLine Namkhaw#2 กลองมโหรทึก

กลองมโหรทึก ชื่อ: กลองมโหรทึก (๑)
แหล่งที่พบ : คลองชลประทาน นบต้นโก บ้านออกวัด หมู่ที่ ๓ ต.น้ำขาว อ.จะนะ
ผู้พบ : นายประเสริฐ สังข์วิสุทธิ์ , นายไพศาล เทพศรี
วัน เดือน ปี ที่พบ : ปี พ.ศ.๒๕๒๑
อายุ : ๒๐๐ ปีก่อนพุทธกาล - พุทธศตวรรษที่ ๕

ลักษณะที่สำคัญ : กลองชนิดหนึ่ง ทำจากโลหะผสมระหว่างทองแดง ดีบุกและตะกั่ว เรียกว่า สำริด ซึ่ง อยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ สันนิษฐานว่า ศูนย์กลางการผลิตและวัฒนธรรม ดองซอน เมืองธันห์หัว ประเทศเวียดนาม
ประเภทและรูปแบบ : นักโบราณคดีได้แบ่งรูปแบบกลองมโหรทึกออกเป็น ๔ รูปแบบ คือ
๑. แบบเฮเกอร์ ๑ ช่วงอายุ ๒๐๐ ปี ก่อนพุทธกาล - พุทธศตวรรษที่ ๕ รูปทรงของกลอง แบ่งเป็น ๓ ส่วนชัดเจน มีลวดลายเรขาคณิต นิยมทำลายนกบินวนหน้ากลอง
๒.แบบเฮเกอร์ ๒ พุทธศตวรรษที่ ๑-๖ รูปทรงของกลองแบ่งเป็น ๓ ส่วน บริเวณหน้ากลองโป่ง ยื่น ตกแต่งปฏิมากรรมเป็นรูปกบ หลายตัว
๓.แบบเฮเกอร์ ๓ พุทธศตวรรษที่ ๑-๑๐ ส่วนบนของกลองเป็นรูปทรงกระบอก เตี้ย สั้น ส่วนกลาง ลำตัวโค้งเล็กน้อย ต่อเนื่องลงไปถึงฐานล่าง
๔.แบบเฮเกอร์ ๔ พุทธศตวรรษที่ ๕-๑๐ รูปทรงแบ่งเป็น ๒ ส่วน ช่วงตัวกลองกลมกลืนไปกับ ฐานกลอง ที่บานออก นิยมตกแต่งลายประดับแบบจีน

ประเด็นศึกษา/ติดตาม: มโหรทึก: กับช่วงของการเปลี่ยนแปลง ถิ่นที่อยู่อาศัย จากถ้ำและเพิงผา สู่ที่ราบ ลุ่มแม่น้ำและชายฝั่ง
มโหรทึก:กับช่วงของการเปลี่ยนผ่าน จากยุคหินใหม่ สู่ยุคโลหะ และเปลี่ยน ผ่านจากสังคมหาของป่า-ล่าสัตว์ สู่สังคมเกษตรกรรมเต็มรูปแบบ
มโหรทึก: กับการเริ่มต้นอารยธรรมการค้าในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ซึ่งอาจ เป็นสินค้านำเข้าในช่วงต้นๆ ของพุทธกาล

TimeLine Namkhaw#1 พิพิธภัณฑ์ชุมชนน้ำขาว

พิพิธภัณฑ์ชุมชนน้ำขาว
"น้ำขาว" เป็นชุมชนเล็กๆ ในอำเภอจะนะ จ.สงขลา มีประชากร ประมาณ.... คน จุดเด่นของชุมชนน้ำขาว คือความเป็น "เครือญาติ" ที่มีสายสัมพันธ์โยงใยมาแต่อดีตร่วมกัน แต่ละคนแต่ละครอบครัวต่างมีศักดิ์เป็นลุง ป้า น้า อา ปู่ ย่า ตา ยาย....โดยวิธีสืบรากเง่า ต้นกอ บอกเล่ากันมาปากต่อปาก...โดยกุศโลบายล้ำลึก ไม่ว่าจะ การลงตายาย หรือ ครูหมอโนรา หรือจากจารีตประเพณีตามคติความเชื่อทางศาสนา ...เช่น ทำบุญเดือนสิบ ทำบุญวันว่าง...ก็จะเห็นพิธีการหรือกิจกรรมสำคัญๆ ที่ยึดโยงอยู่กับเครือญาติอย่างแน่นแฟ้น...."บัวรวม" จึงเป็นจุดร่วมของลูกหลานชาวน้ำขาว ที่ต่างพากันไปจุดธูป-เทียนบูชา ทำบุญกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล เป็นประจำปีในคราวทำบุญวันว่าง ...ของทุกวัดในชุมชนน้ำขาว.

พิพิธภัณฑ์ชุมชนน้ำขาว จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่คอยเก็บเรื่องราวในอดีต เพื่อบอกต่อและเปลี่ยนผ่านเรื่องราวความหลังในอดีต สู่ลูกหลานรุ่นใหม่ของชุมชนเล็กๆ แห่งนี้ที่กำลังเผชิญกับโลกแข่งขันนิยมวัตถุยุคใหม่อย่างไร้ทิศทาง...เช่นเดียวกัน

วัตถุทุกชิ้นที่วางแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ชุมชนแห่งนี้ ได้รับมาจากเจ้าของและลูกหลานผู้สืบทอด ...แต่ละชิ้นได้ผ่าน งานและการทำหน้าที่ของมันมาอย่างยาวนานนับเป็นร้อยปี บางชิ้นเป็นศูนย์รวมของวิถีชุมชน ที่คนแต่ละช่วงของเวลาได้มีโอกาสร่วมสัมผัส ร่วมกันเป็นกิจวัตรสาธารณะ...เสมือนเป็นศูนย์รวมทางจิตวิญญาณของชุมชนก็ว่าได้....จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะได้ยิน ผู้ที่เข้ามาพบวัตถุที่โดนใจแล้ว รำพึงกับตนเองว่า..."ทำให้นึกถึงความหลัง นึกถึงคนหลายๆ คนที่จากไป"....วัตถุทุกชิ้นในพิพิธภัณฑ์ชุมชนแห่งนี้จึงเป็นร่องรอยของอดีตที่มี จิตวิญญาณ...มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ในมุมใดมุมหนึ่งของวิถีชุมชนแห่งนี้อยู่ด้วยเสมอ ไม่ว่าจะ ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่ง หรือในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง....เมื่อมันผ่านไปแล้ว จึงผ่านเลย......

สำหรับการจัดเก็บ การวางรูปแบบและนำเสนอ ได้จัดแบ่งหมวดหมู่เป็น ๗ กลุ่มสำคัญ คือ - กลุ่มเครื่องมือทำกิน - กลุ่มเครื่องใช้ในครัวเรือน - กลุ่มศิลปะและดนตรีพื้นบ้าน - กลุมเครื่องนุ่งห่ม/เครื่องประดับ - กลุ่มพระพุทธรูป เหรืยญ เครื่องเงิน - กลุ่มอาวุธ/เครื่องมือป้องกันตัว - กลุ่มเอกสาร ตำรา งานเขียน "น้ำขาวศึกษา"....สำหรับการจัดรูปแบบของการนำเสนอ นอกจากจะทำเป็นที่จัดเก็บที่มั่นคง ปลอดภัยแล้ว ยังจัดรูปแบบการนำเสนอในรูปนิทรรศการนอกสถานที่ในคราวมีงานสำคัญและการจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนที่มีชีวิต ที่เข้าถึงทุกคน ทุกที่ ในรูปแบบของสื่อเทคโนโลยี่สมัยใหม่....

ในส่วนสาระการนำเสนอเรื่องราวของการแสดงวัตถุสำคัญของพิพิธภัณฑ์ชุมชนน้ำขาว จะแบ่งเป็น ๓ ช่วงเวลาศึกษา คือ ช่วงเวลายุคก่อนประวัติศาสตร์ (ยุคสำริด) ยุคก่อนสงครามโลก (ยุค ๒๔๐๐- ๒๔๘๐) และยุคหลังสงครามโลก

ทุกๆ ห้วงของเวลากับอดีตที่ไม่มีมีวันหวนกลับ ของคนน้ำขาว...เรื่องราวดีๆ ที่เคยจดจำ จะยังคงเหลือไว้ให้คงอยู่กับพิพิธภัณฑ์ชุมชนที่รอวันส่งผ่านเรื่องราวสู่คนรุ่นใหม่ ต่อไป...และอีกต่อๆ ไป....อย่างไม่มีวันจบ.