วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2558

อุโบสถหลังเก่าวัดน้ำขาวนอก



อุโบสถหลังเก่า (พิพิธภัณฑ์ชุมชนน้ำขาว)

สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒-๒๔๗๘ สมัยเจ้าอาวาสรูปที่ ๖ (ท่านอาจารย์หนู) ในเขตสีมาเดิม ลักษณะอาคารทรงไทยภาคใต้ กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๑๕ เมตร แต่เดิมรอบอุโบสถกั้นด้วยลูกกรงไม้ สูง ๑,๕๐ เมตร ปล่อยโล่งด้านบน โดยนายช่าง คงทอง เป็นหัวหน้าร่วมกับประชาชนชาวน้ำขาวและชุมชนใกล้เคียง ดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ ใช้ระยะเวลา ๗ ปี

มีคำจารึกเขียนไว้ตรงเพดานอุโบสถว่า “ช่างคงทองออกวัดได้จัดทำ...
” คำจารึกการสร้างอุโบสถได้บันทึกไว้ว่า

“เมื่อ พ.ศ.๗๒ ต้องตำรา...(ตัวอักษรเลือนราง)... ขึ้น ๑๑ วันศุกร์สนุกสบาย
พวกหญิงชายชุ่มเชิ่นเจริญศรี อย่าทะนงสงสัยในข้อนี้
ถึงวันที่ ๑๖ ยกเสา (เอก) กว่าจะสำเร็จได้ ๗ ขวบ
จึงรวบรวมกันปล้ำทำแต่หมู่เรา ส่วนราคาค่าจ้างช่างไม่เอา
เพราะจิตร์เขารักใคร่ฝ่ายศาสนา ช่างคงทองออกวัดได้จัดทำ
เมื่อสำเร็จเสร็จการคิดงานฉลอง เมื่อ ๑๒ มิถุนา พ.ศ.๗๘
ผมตราไว้จะให้รู้ความตามปัญหา ท่านทั้งหลายใกล้ไกลที่ไปมา
รู้กิจจาข้อคดีเท่านี้เอย.
ขยายความจากข้อความที่จารึก

“เมื่อ พ.ศ.๗๒ ต้องตำรา...” พ.ศ.๒๔๗๒ ตรงกับปีมะเส็ง วันศุกร์ขึ้น ๑๑ค่ำ เดือน ๙ วันที่ ๑๖ เดือนสิงหาคม ในรัชกาลที่ ๗ เป็นปีที่ ๕ ของการขึ้นครองราชย์... วัดน้ำขาวนอก ร่วมกับช่างฝีมือ คือนายช่าง คงทอง เป็นหัวหน้า ระดมชาวบ้านน้ำขาวและชุมชนใกล้เคียง ทั้งหญิงชายให้มาช่วยกันยกเสา (เอก) ของอุโบสถ ดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ ใช้ระยะเวลา ๗ ปี โดยช่างไม่คิดค่าแรง สะท้อนวิถีชีวิตชุมชนของคนน้ำขาวในอดีต ที่มีความศรัทธา เสียสละ สามัคคี และเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งไม่หวังผลตอบแทน...

“เมื่อสำเร็จเสร็จการคิดงานฉลอง เมื่อ ๑๒ มิถุนา พ.ศ.๗๘...” พ.ศ. ๒๔๗๘ ตรงกับปีกุน วันพุธขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๗ วันที่ ๑๒ เดือนมิถุนายน ในรัชกาลที่ ๘ เป็นปีที่ ๒ ของการขึ้นครองราชย์ ... วัดน้ำขาวนอก ร่วมกับชาวน้ำขาวและผู้มีจิตศรัทธา ร่วมจัดงานฉลองอุโบสถขึ้น ในงานจัดให้มีการละเล่นที่เป็นที่นิยมของคนสมัยนั้น คือการรับหนังตะลุงมาเล่นแข่งขันกัน ๒ โรง ระหว่างหนังอั้น กับ หนังแดง คอบาก...

ในปี พ.ศ.๒๕๓๕ ได้มีการบูรณะ โดยได้ทำการก่ออิฐโบกปูนติดตั้งประตูหน้าต่างและจัดสร้างบันไดขึ้นลงทั้ง ๔ ด้าน เทคอนกรีตโดยรอบเชิงชายด้านนอกอุโบสถ.

บริเวณภายในอุโบสถ

พระประธานองค์เดิม

มีพระพุทธรูปปางขัดสมาธิเพชร เป็นพระประธานองค์เดิม ขนาดหน้าตักกว้าง ๕๙ เซนติเมตร จารึกไว้ว่า “คุณหญิงทรงพลภาพขุนพลธร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐” เป็นพระพุทธรูปเก่า สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือปั้นหล่อ โดยช่างถ้องถิ่นปักษ์ใต้ ไม่ทราบปีที่สร้าง ...

พระประธานองค์ใหม่

ขนาดหน้าตักกว้าง ๙๙ เซนติเมตร ชื่อ “พระสัมพุธโธภาสพรรณี ชินศรีวรลักษณทัต นริศราธิเบศรโลกเชฏฐพิชิตมาร วรญาณบพิตร” คณะจีนไหหลำสร้างถวาย วัดธรรมประดิษฐ์ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา พ.ศ. ๒๕๑๐ ต่อมาพระภัทรธรรมธาดา วัดดอนรัก ได้นำมาถวายพระครูเกษมวรคณี จึงได้ประดิษฐานเป็นพระประธานแทนองค์เดิม

ลักษณะภายในอุโบสถที่ฐานพระประธาน ทำเป็นแท่นสูง ๐.๙๐ เมตร กว้าง ๑.๕๖ เมตร ยาว ๓.๒๐ เมตร พื้นภายในทำเป็น ๒ ชั้น ตรงกลางยกเป็นอาสน์สงฆ์สูง ๙ เซนติเมตร กว้าง ๔.๗๐ เมตร ยาว ๙.๗๖ เมตร รอบ ๆ อาสน์สงฆ์ต่ำลงมาเป็นที่นั่งของอุบาสก อุบาสิกา

ปี พ.ศ.๒๕๔๙ วัดน้ำขาวนอก ร่วมกับบรรดาศิษยานุศิษย์ของพระอมรมุนี (พระมหาสุทิน)กับ พระราชวิสุทธิญาณ (พระมหาจิรพล)เปิดใช้อุโบสถหลังเก่า ประกอบพิธีฉลองสมณศักดิ์ของท่านเจ้าคุณทั้งสองรูป เนื่องในคราวได้รับพระราชทานชั้นยศเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญและเลื่อนชั้นยศที่สูงจากชั้นสามัญเป็นชั้นราชขึ้นในคราวเดียวกัน นับเป็นเกียรติประวัติที่สำคัญยิ่งของคนน้ำขาว

ปี พ.ศ.๒๕๕๔ พระราชวิสุทธิญาณ ได้ดำริที่จะจัดตั้งและให้การสนับสนุนงบประมาณ เพื่อจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนน้ำขาวขึ้น สำหรับเป็นที่เก็บรวมรวมวัตถุ สิ่งของเครื่องมือ เครื่องใช้ ทั้งของชุมชนและของวัด เพื่อวัตถุประสงค์เป็นแหล่งเรียนรู้และศูนย์รวมคลังปัญญาของชุมชน และเห็นว่าอุโบสถหลังเก่าเหมาะที่จะเป็นสถานที่จัดเก็บ โดยกำหนดให้มีการจัดทำและเปิดใช้อย่างเป็นทางการขึ้น ในวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๔ โดยนายกองค์บริหารส่วนจังหวัดสงขลา (นายอุทิศ ชูช่วย)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น