วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ประวัติวัดบูรณาราม

ประวัติวัดบูรณาราม (วัดคลองแงะ)

สถานที่ตั้งวัด : วัดบูรณาราม ตั้งอยู่ที่บ้านคลองแงะ หมู่ที่ ๑๑ ตำบลน้ำขาว อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

สังกัด : คณะสงฆ์นิกาย ธรรมยุต

สภาพพื้นที่ : พื้นที่ตั้งเป็นที่เนินสูง ตั้งอยู่เชิงเนินเขาด้านในสุดของตำบลน้ำขาว นอกจากวัดบูรณารามแล้ว ในตำบลน้ำขาวยังมีวัดเก่าแก่อีก ๒ วัด คือ วัดน้ำขาวใน ตั้งอยู่บ้านน้ำขาวหมู่ที่ ๖ ต.น้ำขาว และวัดน้ำขาวนอก ตั้งอยู่บ้านออกวัด หมู่ที่ ๓ ต.น้ำขาว

เนื้อที่ของวัด : ที่ตั้งวัดมีเนื้อที่ ๑๕ ไร่ (ส.ด. ๑ เลขที่ ๑๘๐) ที่ธรณีสงฆ์ แปลงที่ ๑ เนื้อที่ ๑๑ ไร่ ๒ งาน ๒๐ ตารางวา แปลงที่ ๒ เนื้อที่ ๕ ไร่ ๒ งาน ๕๐ ตารางวา

ประวัติความเป็นมา : วัดบูรณารามเดิมชาวบ้านเรียกว่า “วัดคลองแงะ” ได้รับพระราชทานเขตวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ กว้าง ๓๐ เมตร ยาว ๖๐ เมตร แต่เดิมสันนิษฐานกันว่าน่าจะเป็นสาขาหนึ่งของวัดเสะ ต.บ้านนา (จากบันทึกคำบอกเล่าของชาวบ้าน) สาเหตุที่ได้ตั้งชื่อวัดว่า “วัดบูรณาราม” เนื่องจากวัดและชุมชนได้ร่วมกันพัฒนาบูรณะวัดให้เจริญยิ่งขึ้น จากแต่เดิมเป็นเพียงที่พักสงฆ์เท่านั้น จากคำบอกเล่าของชาวบ้านว่า ประมาณช่วงปี พ.ศ.๒๔๕๐ บ้านคลองแงะได้พยายามสร้างวัดขึ้นถึง ๒ แห่ง แต่ก็ไม่สำเร็จคงเหลือแต่เพียงวัดคลองแงะเพียงวัดเดียว

ทำเนียบเจ้าอาวาส: นับแต่เริ่มก่อตั้งถึงปัจจุบัน มีเจ้าอาวาสที่สืบค้นได้จากคำบอกเล่า จำนวน ๘ รูป คือ ๑.พ่อท่านเสน ๒.พ่อท่านสีนา ๓.พ่อท่านอ้วน ๔.พ่อท่านแสง (พระครูโชติธรรมวัตร) ๕.พ่อท่านเนียม ๖.พ่อท่านแสง(พระครูโชติธรรมวัตร) ๗.พ่อท่านวร ๘.พ่อท่านจ้วน (พระครูพิพัฒน์สังฆกิจ)

บทบาทและความสำคัญต่อชุมชน: วัดบูรณาราม (วัดคลองแงะ) นับเป็นสถานที่รวมศูนย์ทางจิตใจของชุมชนบ้านคลองแงะมาแต่เมื่อครั้งอดีต ในสมัยพ่อท่านแสง(พระครูโชติธรรมวัตร) เปิดเป็นสถานฝึกอบรมธรรมะแก่กุลบุตรกุลธิดาฝึกสวดมนต์สรภัญญะและปฏิบัติศาสนพิธี เปิดสอนอบรมหลักสูตรนักธรรมศึกษา แก่พระนวกะ สนับสนุนให้มีการจัดตั้งโรงเรียนบ้านคลองแงะ ร่วมกับชุมชนพัฒนาสาธารณะประโยชน์ สร้างสะพานต้นตาเสือ สะพานท่านแสง ซึ่งเป็นเส้นทางสายสำคัญของหมู่บ้านที่สามารถติดต่อสู่โลกภายนอกได้สะดวกรวดเร็ว สร้างศาลา และถนน ในสมัยพ่อท่านจ้วน (พระครูพิพัฒน์สังฆกิจ) ได้จัดการก่อสร้างโรงอุโบสถแบบถาวรขึ้นมีลักษณะรูปทรงเป็นแบบมหาอุต คือมีประตูทางเข้า-ออก ทางเดียว ไมมีประตูหลัง ขนาดกว้าง ...... เมตร ยาว ..... เมตร ภายในอุโบสถมีภาพวาดพุทธชาดก กัณฑ์เวชสันดรชาดกและภาพพุทธประวัติติดไว้ตามฝาผนังของโบสถดูสวยงาม ตระการตายิ่งนัก.

กิจกรรมเด่นของวัดที่ทำร่วมกับชุมชนในอดีต : ตามคติความเชื่อของชาวพุทธโดยทั่วไปที่เลื่อมใสและเคร่งครัดในพระพุทธศาสนา เชื่อว่า การที่เข้าไปในเขตวัดไม่ว่าจะด้วยธุระอันใด เมื่อถึงคราวเดินออกมา เศษหินดินทรายก็มักติดตามร่องรองเท้าออกมาด้วย ซึ่งเชื่อว่าไม่เป็นมงคลต่อชีวิต ทำให้พื้นที่ธรณีสงฆ์ทรุดต่ำลง ชาวบ้านจึงได้จัดให้มีประเพณีขนทรายเข้าวัด โดยไปขนมาจากคลองคู แล้วมาร่วมกันก่อเป็นเจดีย์ทราย ปักธง ตอนกลางคืน จุดเทียนสว่างไสว นำครอบครัวมาร่วมสวดมนต์และรับศีลรับพร ทำบุญร่วมกันเพื่อหวังความสงบสุขในชีวิตทั้งชาตินี้และชาติหน้า.

ปูชนียบุคคลที่เคารพสักการะ: รูปปั้นเหมือนพ่อท่านเสน อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๑ ประดิษฐานอยู่ในศาลาวัดและสถูป(บัว)ของพ่อท่านเสนซึ่งตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางลานวัด ใกล้ ๆกับโรงครัว เวลามีเหตุทุกข์ร้อน หรือประสงค์สิ่งใด มักมีผู้ไปบนบานตามความเชื่อและศรัทธาเฉพาะตนแล้วมักจะสำเร็จสมประสงค์ตลอดมา.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น