วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2558

อุโบสถหลังเก่าวัดน้ำขาวใน



ประวัติอุโบสถวัดน้ำขาวใน (หลังแรก)

สมัยเจ้าอาวาสรูปที่ ๑-๓ การจัดสร้างเสนาสนะ จัดทำกันแบบชั่วคราว หลังคามุงด้วยจาก (สิเหรง) เพียง ๓ – ๔ ปี ก็ชำรุดทรุดโทรม แต่ก็ได้ช่วยกันบำรุงรักษามาตามยุคตามสมัย ตามกำลังศรัทธาของประชาชนในสมัยนั้น ๆ ให้เจริญขึ้นคราวละเล็กคราวละน้อยเรื่อย ๆ มาเป็นลำดับ

สมัยเจ้าอาวาสรูปที่ ๔ ( ถึง พ.ศ.๒๔๓๖) คือ ท่านอาจารย์แก้ว (พ่อท่านหัวพาน) ท่านได้จัดสร้างอุโบสถหลังนี้ขึ้น ยาว ๑๒ เมตร กว้าง ๙ เมตร หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา จากเอกสารบันทึกประวัติวัดน้ำขาวใน ของหลวงปู่พรหม ได้เขียนไว้ว่า “นี่นับเป็นครั้งแรกที่กระเบื้องดินเผาได้ถูกนำเข้ามาในวัดนี้ ราวปี พ.ศ.๒๔๓๑” และได้ขยายเขตวัดมาทางทิศเหนือ เพราะเห็นว่าบริเวณเดิม( ร.ร.ชุมชนวัดน้ำขาวใน) เป็นที่ไม่เหมาะสม เพราะอยู่ชิดติดกับคลอง น้ำมักท่วมและกระแสน้ำเซาะตลิ่ง ทำให้สิ่งก่อสร้างเกิดเสียหายเลยจัดวางแผนผังของวัดเสียใหม่ โดยขุดคูรอบ ๆ บริเวณพร้อมกับสร้างอุโบสถหลังแรกที่มั่นคงยิ่งขึ้น

สมัยเจ้าอาวาสรูปที่ ๖(พ.ศ.๒๔๕๑ – ๒๔๕๙) คือ ท่านอาจารย์อ่ำ ท่านองค์นี้มีผู้คนนิยมนับถือมาก ท่านเป็นผู้ที่มีระเบียบเรียบร้อยตามสมณวิสัยเพศ ในด้านกิจกรรมเกี่ยวกับการบูรณะวัด ท่าน ได้รื้อโรงอุโบสถหลังเก่าเพื่อสร้างขึ้นใหม่ มีความถาวรมั่นคงยิ่งกว่า ดังที่เห็นอยู่จนถึงทุกวันนี้

สมัยเจ้าอาวาสองค์ที่ ๑๐ (พ.ศ.๒๕๓๔ – ๒๕๕๗) คือ พระครูโชติธรรมวัตร (แสง โชติธมฺโม) ปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ท่านได้ดำเนินการเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณจากทางราชการ เพื่อบูรณะซ่อมแซม โดยได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่ ๑๐ สงขลาไว้แล้ว จำนวนเงิน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยทางวัดได้จัดสรรงบประมาณสมทบเข้าร่วมโครงการบูรณะซ่อมแซม ๑๐๐,๐๐๐ บาทด้วย บัดนี้กำลังดำเนินการบูรณะซ่อมแซมโดยยึดรูปลักษณ์ ศิลปลวดลายและรูปทรงตามแบบช่าง เดิม ๆ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น