วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ทวดต้นโก ศาลาฤๅษี

ทวดต้นโก ศาลาฤๅษี

บ้านนาหยาม หมู่ที่ ๑๐ ต.น้ำขาว อ.จะนะ จ.สงขลา

ต้นโก เป็นชื่อของต้นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง ในอดีตเป็นต้นไม้ใหญ่ยืนเด่นเป็นสง่าทอดกิ่งใบแผ่กว้างรกครึ้ม ใกล้กับเส้นทางสายหลักที่คนน้ำขาวและคนต่างถิ่นใช้สัญจรไป-มาภายในตำบลและระหว่างตำบลเพื่อออกไปสู่โลกภายนอก ตรงบริเวณทวดต้นโกและศาลาฤๅษีแห่งนี้จึงเป็นที่เปลี่ยว ร่ำลือกันว่ามีทวดต้นโกคุ้มคลองอยู่ ผู้คนที่เคยสัญจรผ่านไปมาจึงมักถูกลองดี เพราะ “ถูกผีหลอก” อย่าว่าแต่กลางคืนแม้กลางวันแสก ๆ ผีทวดต้นโกก็หลอก

โดยสภาพตามภูมิศาสตร์ของตำบลน้ำขาวมีลักษณะเป็นที่ลุ่มแอ่งกระทะ มีสายน้ำ ไหลทอดยาวมาจากแหล่งต้นน้ำป่ายืด ท่าสา สายหนึ่ง ไหลมารวมกับสายน้ำที่เกิดจากต้นน้ำเขาสระ เขาเหล็ก ที่บ้านคลองแงะ อีกสายหนึ่ง เรียกว่าสายน้ำ “คลองคู” แล้วไหลรวมกันลงสู่ที่ราบลุ่มบ้านน้ำขาว ด้วยความอุดมสมบูรณ์ที่สายน้ำ สายนี้ได้พัดพาเอาดินตะกอน เศษหินเศษไม้ลงมาทับถมตามเกาะแก่ง คดเคี้ยว ทำให้ต้นไม้ขนาดใหญ่มีอยู่โดยทั่วไปตลอดแนวตลิ่งของสายน้ำ โดยเฉพาะตรงบริเวณที่มีการตัดถนนผ่านจึงมักเกิดเป็นตำนานเล่ากันไปปากต่อปากว่าทวดแต่ละที่ดุไม่เหมือนกัน เช่นทวดต้นโกมักแสดงจริตให้ผู้คนที่สัญจรได้ยินเป็นเสียงเขย่ากิ่งไม้ หรือต้นไม้ที่รกครึ้มสองข้างสะพานชวนขนหัวลุกแม้ในยามกลางวัน ยุคก่อน พ.ศ.๒๕๐๐ ไม้สะพานทำด้วยไม้เคี่ยมทั้งต้นทอดข้ามเพียงดุ้นเดียว

ต่อมาหลังปี พ.ศ.๒๕๐๐ ทางการเริ่มพัฒนา การสัญจรของผู้คนหนาแน่นมากขึ้นสะพานก็เริ่มเปลี่ยนจากไม้ซุงท่อนเดียวเป็นไม้มะพร้าวทั้งต้นทอดข้ามเป็นทางคู่ขนานโดยใช้ “ขอปลิง” (ตัวอย่างขอปลิงดูที่พิพิธภัณฑ์ชุมชนน้ำขาว... วัดน้ำขาวใน )ตีประกบให้ยึดติดกันไว้ให้แน่น เพื่อให้รถยนต์แล่นผ่านได้โดยสะดวก เด็กๆ น้ำขาวในยุคสมัยนั้นนาน ๆ จึงได้เห็นรถยนต์แล่นเข้ามาสักครั้ง ส่วนมากจะเป็นรถยนต์ของพวกหนังฉายขายยา หนังตะลุง มโนรา และรถของพ่อค้าจากจะนะที่เข้ามาส่งสินค้าให้กับร้านค้าในน้ำขาว เมื่อรถยนต์เข้ามาเด็ก ๆ โดยเฉพาะที่อยู่ต้นทางแถวบ้านนาหยาม จะรู้และรีบส่งข่าวออกไป เพื่อชวนกันออกมาวิ่งไล่ตามรถยนต์อย่างสนุกสนานจนพ้นเขตหมู่บ้าน ...เป็นอยู่อย่างนี้เรื่อยมาจนผู้อาวุโสในหมู่บ้านท่านหนึ่งสังเกตเห็นว่าเด็ก ๆ ลูกหลานของท่านสนใจและชอบดูรถยนต์กันนักจึงได้พูดเปรย ๆ ขึ้นว่า “เดชะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของทวดต้นโก ขอให้รถยนต์หล่นพาน(ตกสะพาน)นี้ลงสักคันถิ... ให้โหมฺเด็กนี้(เด็กพวกนี้)มันได้แลรถกันให้เต็มตาสักที” หลังจากนั้นไม่นานรถยนต์ก็แล่นมาตกสะพานแห่งนี้จริง ๆ พวกเด็ก ๆ จึงได้ดูรถยนต์กันตามปราถนา ด้วยเหตุนี้ทวดต้นโกจึงกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของคนในหมู่บ้านนาหยาม หมู่ที่ ๑๐ และหมู่บ้านใกล้เคียงนับแต่นั้นมา ใครอยากได้อะไรหรือผิดหวังเรื่องใด จึงมักจะไปบนบาน แล้วจะได้สมประสงค์...ของแก้บนคือ น้ำตาลเมา สุรา น้ำหวาน และเสียงของลูกประทัด ต่อมาชาวบ้านจึงได้จัดสร้างศาลาและนำฤๅษีมาตั้งไว้แทนสัญลักษณ์ของทวดต้นโกที่ถูกน้ำเซาะตลิ่งจนล้มและตายไปในที่สุด.

ประเพณีและกิจกรรมสำคัญของหมู่บ้านที่ได้ทำสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน :

ประมาณปี พ.ศ.๒๕๑๕ ผู้ใหญ่บ้านพัน เทพรักษ์และชาวบ้านหมู่ที่ ๑๐ ร่วมกับอาจารย์ทวีป แก้วยอดได้จัดชกมวยการกุศลขึ้นเพื่อหาเงินมาบูรณะสะพานและถนนที่เป็นโคลนตม ในเวลาเดียวกันสำหรับภาคกลางวันก็ได้จัดพิธีบวงสรวงและไหว้ทวดต้นโกขึ้นด้วย ซึ่งถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้านมาก่อนหน้านั้นแล้ว พิธีดังกล่าวได้จัดทำร่วมกันมาทุกปี... ปัจจุบันในช่วงเดือน ๕ ของทุกปีชาวบ้านนาหยามจะให้หมอมาทำพิธีบวงสรวงไหว้พระภูมิเจ้าที่เจ้าทาง โดยเฉพาะที่ทวดต้นโก จัดชุมนุมเทวดา รับเทดาเสร็จแล้วจึงพากันไปร่วมทำกิจกรรมทางศาสนาที่ศาลาประชาคมของหมู่บ้านกันอย่างสามัคคีพร้อมเพรียง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น