วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ป่าช้าต้นเมา


ป่าช้าต้นเมา (เปลวต้นเมา)

ป่าช้า คือที่สำหรับจัดไว้เพื่อฝัง หรือเผาศพ ป่าช้าต้นชะเมา (เปลวต้นเมา) ตั้งอยู่บ้านออกวัด หมู่ที่ ๓ ตำบลน้ำขาว มีเนื้อที่ประมาณ ๓ งาน โดยนายยิ่ง ศรีมณี และนายเอียด คงทอง ร่วมบริจาคที่ดินให้ ในอดีตบริเวณนี้เป็นที่รกชัฎมีย่านสะบ้าขึ้นปกคลุมต้นชะเมามืดคลึ้มน่าเกรงขาม หมู่บ้านที่นิยมนำศพมาเผาที่ป่าช้าต้นชะเมา คือ หมู่บ้านออกวัด หมู่บ้านต้นเหรียง หมู่บ้านเกาะแค หมู่บ้านเลียบ หมู่บ้านนาหยาม เมื่อมีคนตายเจ้าภาพนิยมตั้งบำเพ็ญกุศลศพไว้ที่บ้าน เป็นเวลา ๓ คืนก่อน ระหว่างงานก็ส่งข่าวให้ญาติพี่น้องไปร่วมบุญอุทิศส่วนกุศลศพ นิยมเรียกกันว่า “ไปถามข่าว” โดยพาข้าวสารและเกลือไปช่วยงาน ในวันกำหนดการฌาปณกิจศพ เจ้าภาพจะช่วยกันคาดไม้เป็นคานหามศพ ระหว่างเส้นทางหามศพไปป่าช้าจะมีพระขึ้นไปสวดคานหามด้วย ๔ รูป โดยมีวงกาหลอแห่นำขบวน วงกาหลอในยุคนั้นมี ๒ วง คือวงกาหลอของนายช่าง คงทอง กับวงกาหลอคณะของนายแดงกาหลอ บรรดาญาติพี่น้องเดินแห่ตามหลังขบวนศพ นิยมถือไม้ฟืนไปร่วมเผาศพด้วย ปริศนาธรรมเวลาแบกไม้ฟืนไปเผาศพต้องแบกไม้ฟืนเอาส่วนปลายไม้นำทางไป “การเกิดขึ้น คงอยู่ และดับไป ของชีวิตหนึ่งที่เวียนว่ายอยู่ในห้วงแห่งวัฏฏะ ถึงอย่างไรกายนั้นก็ไม่กลับมามีวันฟื้น เหมือนกับท่อนไม้ฟืนที่ไม่มีวันงอกและเจริญเติบโตขึ้นมาได้อีกหากเอาท่อนปลายฝังลงในดิน” การจัดที่สำหรับเผาศพนิยมนำเอาท่อนไม้ฟืนจัดเรียงซ้อนกันขึ้นเป็นชั้นๆ ยกสูงขึ้นเหนือระดับพื้นดิน เรียกว่า “เชิงกอน” บางศพทำเป็นเหมือนซุ้มปะรำยกสูง เสาทำด้วยไม้หมาก หรือไม้โอน มีหลังคาผ้าขาว เรียกว่า “เสาร่มไฟ” การยกศพขึ้นไปวางบนเชิงกอน จะยกขึ้นทั้งโลงไม้โดยหมอจะทำพิธีตามขั้นตอนทางไสยศาสตร์อย่างเคร่งครัด ก่อนเผาจะมีการดึงเสื่อที่รองศพให้ศพคว่ำหน้าลงและใช้ไม้เดาะเอากระดานท้องโลงออกมาเพื่อให้ไฟไหม้เข้าไปในโลงไม้ได้สะดวก ส่วนกระดานท้องโลงเจ้าภาพจะนำกลับไปเก็บไว้ที่วัดเพื่อรอศพต่อไปมาเรียกใช้บริการอีก สำหรับกระดานท้องโลงแรก ๆนิยมนำไปพิงไว้ข้างกุฏิใกล้ๆ ต้นทุเทียนเนื้อดีต้นหนึ่ง ก็เลยได้ชื่อเป็น “ต้นทุเรียนน้ำเน่า” หลังเผาเสร็จจะมีการเก็บกระดูกไปบังสุกุล และเก็บรักษาไว้ในสถูปที่วัดน้ำขาวนอก ส่วนเศษกระดูก ขี้ดิน ขี้เถ้าก็จะฝังไว้ที่ป่าช้า..



ต้นทุเรียนน้ำเน่า เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว ภาพนี้ถ่ายโดยครูยะนานมาแล้ว

หากเปรียบชุมชนน้ำขาวเหมือนต้นชะเมา ที่ตรงนี้คือรากแก้วของชุมชนที่ยึดโยงให้ชุมชนน้ำขาวได้เปลี่ยนแปลงและเจริญรุดหน้ามาจนถึงทุกวันนี้ แผ่นดินบนเนื้อที่เพียงไม่กี่ตารางวาตรงนี้ เป็นที่ฝังกลบเศษกระดูกเศษดินเศษขี้เถ้าของบรรพบุรุษของคนในชุมชนน้ำขาว ทับถมกันมาคนแล้วคนเล่า นับร้อย ๆ ปี



กิจกรรมสำคัญ : ทุกปีตรงกับวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ชุมชนน้ำขาวและละแวกใกล้เคียงจะร่วมกันทำบุญเปลว ลูกหลานชาวน้ำขาวทั้งไกลและใกล้ต่างก็กลับมาพบกัน ร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว ณ ที่ป้าช้าต้นชะเมา (เปลวต้นเมา) แห่งนี้ที่เป็นเสมือนกับบ้านแห่งสุดท้ายของคนน้ำขาวทุกคน.

การถวายทาน การให้ทานจะให้ผลน้อยหรือมากขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ ๓ ประการคือ

๑.สิ่งของที่จะให้ทานต้องบริสุทธิ์ คือต้องได้มาด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ของนี้ไม่จำเป็นจะต้องประณีต หรูหรา ราคาแพง ของเลวๆแทบไม่มีราคาเช่น “รำจี่”ของนางปุณณาก็ได้
๒. เจตนา คือ ความตั้งใจจะต้องบริสุทธิ์ ก่อนให้ กำลังให้ และหลังให้ จะต้องมีความเลื่อมใสไม่คิดเสียดายภายหลัง
๓. ผู้รับทานต้องบริสุทธิ์ คือ ผู้มีศีล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายเป็น”ปฎิคาหก” (ผู้รับ) ที่บริสุทธิ์ทานที่ให้จึงมีผลมาก ยิ่งพระอรหันต์ที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติแล้ว ผู้ถวายทานแก่ท่าน ย่อมได้ผลทันตาเห็น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น